วันพุธ, กันยายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight"เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย" ลุ้นผลประชุม กนง. วันนี้ คาดคงดอกเบี้ย 2.5%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” ลุ้นผลประชุม กนง. วันนี้ คาดคงดอกเบี้ย 2.5%

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” หลังดอลลาร์อ่อนค่า ลุ้นผลการประชุม กนง. ระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.13-34.26 บาทต่อดอลลาร์ โดยแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทว่า เงินบาทก็มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ และอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบ หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ตามรายงานข่าวว่า ทางการอิสราเอลยอมรับข้อเสนอการทำข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาแล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มกลับมาอยู่ในโหมด wait and see เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมโดยเฉพาะถ้อยแถลงของประธานเฟดในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้าง ตามแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil -3.3% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.45% กดดันโดยการปรับตัวลงหนักของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Shell -2.8% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปในช่วงนี้ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการฝั่งยุโรป รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด

ในส่วนตลาดบอนด์นั้นพบว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงราว -6bps สู่ระดับ 3.81% หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้ ได้ราว -100bps นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงคืนที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ดี ควรระวังความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้น หากผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดใหม่ โดยอาจกลับมามองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ทั้งนี้ ระดับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน อาจยังไม่น่าดึงดูดใจมากพอ ทำให้เรายังคงคำแนะนำเดิม “เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip” หรือเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้น ส่วนจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้นนั้น ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดพิจารณาขายทำกำไรได้บ้าง หากมีกลยุทธ์ Range-Bound Trading

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าขึ้นจากโซน 146.50 เยนต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.3-101.9 จุด) อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ก็เริ่มเจอโซนแนวรับและอาจแกว่งตัว sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด

ส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าในช่วงแรกราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะทยอยปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ตามการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่า ราคาทองคำก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงขายต่อเนื่องของผู้เล่นในตลาด หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีแนวโน้มคลี่คลายลง หากอิสราเอลและฮามาสสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ ทั้งนี้ ราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้โซน 2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยแนวโน้มเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังคงปรับตัวลดลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเราประเมินว่า กนง. อาจมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 6-1 หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ตามเดิม ทว่า ควรจับตาอย่างใกล้ชิด ว่า กนง. จะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยอย่างไร จากพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงนี้ รวมถึงจากรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งได้ประกาศไปในช่วงต้นสัปดาห์

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการปรับปรุงข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น (Preliminary Annual Payrolls Benchmark Revision) ซึ่งอาจสะท้อนว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในช่วงที่ผ่านมานั้น อาจน้อยกว่าที่ได้รายงานก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดการจ้างงานในส่วนของ Household Survey (ที่ใช้คำนวณอัตราการว่างงาน) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะเปิดเผยในช่วงเช้าตรู่ ของวันพฤหัสบดี ราว 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีกำลังอยู่มากกว่าที่เราประเมินไว้พอสมควร ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดโซนแนวรับที่ประเมินไว้ ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นดังกล่าวของเงินบาทได้รับอานิสงส์จากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ (หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่) แต่ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทก็ยังมีความเสี่ยงกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง หลังการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องดังกล่าวของเงินบาทได้รับรู้ปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าไปมากแล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าว อย่าง แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงหนัก หรือ บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดย้ำว่า เฟดอาจไม่ได้จำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทยก็อาจยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง จนกว่าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่จะเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ตามโมเมนตัมการแข็งค่าที่ยังคงมีกำลังอยู่ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในวันนี้ เรามองว่า แม้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ตามคาด แต่หาก กนง. ยังคงมุมมองเดิมต่อแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและไม่ได้ส่งสัญญาณถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า กนง. อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยทยอยปรับตัวลดลง

ซึ่งเราก็เห็นแรงซื้อจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น หาก กนง. ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสถานะการลงทุนบอนด์ออกไปบ้าง อนึ่ง เรามองว่า แม้เงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง ก็อาจติดโซนแนวต้านแรกแถว 34.20 บาทต่อดอลลาร์ และมีแนวต้านสำคัญในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งก็อาจยังไม่เห็นได้ในเร็ววันนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะ JPY Carry Trade/Short JPY ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.25 บาทต่อดอลลาร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img