6 สายการบินในประเทศเตรียมจัดหาเครื่องบินรองรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หวังรายได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ รองรับการเติบโตธุรกิจการบิน-การท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะดีมานด์ผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทะลัก
นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2568 มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่ม 13 ลำ และในปีนี้มีแผนใช้เครื่องบินทั้งหมด 77 ลำในปีนี้ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 70% และเครื่องบินลำตัวแคบ 30% ทำให้สิ้นปีหน้ามีเครื่องบินรวม 90 ลำ
ส่วนแผนระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้า การบินไทยจะขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 143 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 90 ลำ สำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารจำนวนมากและเส้นทางบินระยะไกลอย่างยุโรป ส่วนเครื่องบินลำตัวแคบอีกประมาณ 50 ลำนั้น จะนำมาเสริมเส้นทางบินระยะสั้น รองรับการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก
โดยขณะนี้การบินไทยให้บริการ 807 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สู่ 61 จุดหมายปลายทาง การขยายฝูงบินจะทำให้การบินไทยสามารถเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินที่มีศักยภาพ รวมถึงการนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่ เช่น กรุงเทพฯ – บรัสเซลส์ เบลเยี่ยม ความถี่ 1 เที่ยวบินต่อวัน จะเริ่มทำการบิน 1 ธ.ค.นี้
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สมีแผนออกใบเสนอเชิญชวนให้ผู้ผลิตเครื่องบินมานำเสนอราคาเพื่อจัดหาเครื่องบินใหม่ในปีนี้ รองรับการเติบโตของธุรกิจการบินและท่องเที่ยวในอนาคต คาดว่าจะจัดหาเครื่องบินประมาณ 20 ลำ เพื่อนำมาแทนที่เครื่องบินเดิมที่มีอยู่ เน้นเครื่องบินที่สามารถทำการบินไปยังเกาะสมุย ซึ่งเป็นเส้นทางหลัก จากกลยุทธ์การปรับปรุงและขยายฝูงบินครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น รองรับดีมานด์ของผู้โดยสารในอนาคต
ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินรวม 24 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ แอร์บัส A319 จำนวน 11 ลำ และ ATR 72-600 จำนวน 10 ลำ โดยในสิ้นปี 2567 จะเพิ่มเครื่องบินแอร์บัส A319 อีก 2 ลำ และปลดประจำการ A320 ออก 1 ลำ ส่งผลให้มีฝูงบินทั้งหมดเพิ่มเป็น 25 ลำ และคาดว่าจะขยายเป็นประมาณ 30 ลำในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ไทยแอร์เอเชียจะมีฝูงบินทั้งหมด 60 ลำในสิ้นปีนี้ ใกล้เคียงปี 2562 ก่อนโควิดระบาดที่มี 63 ลำ โดยตามแผนจะรับมอบเพิ่ม 4-5 ลำต่อปี ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแอร์บัส A321neo ขึ้นกับแผนขยายเส้นทางบินในอนาคต ซึ่งอาจจะมีแอร์บัส A321XLRs ที่ทำการบินระยะกลาง 5-6 ชั่วโมงได้ สามารถนำไปเจาะบางตลาด เช่น ตะวันออกกลาง ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 68- 72 ตั้งเป้ารับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 25-30 ลำ แต่ระหว่างนั้นก็มีคืนเครื่องบินบางส่วนเมื่อครบสัญญาเช่าเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ รับมอบเครื่องบินใหม่แอร์บัส A321neo ความจุ 236 ที่นั่ง เพิ่มอีก 2 ลำเมื่อเดือน ก.ค. ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องบินรุ่นนี้รวม 4 ลำ และเตรียมรับเพิ่มอีก 1 ลำภายในปีนี้ รองรับการขยายตัวของผู้โดยสารช่วงไฮซีซัน คาดว่าผู้โดยสารรวมอยู่ที่ 21-22 ล้านคน ใกล้เคียงของเดิมที่เคยได้ 22.15 ล้านคนเมื่อปี 62
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า ตั้งเป้าสู่เป้าใหญ่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลักดันยอดรวมผู้โดยสารไปให้ถึง 10 ล้านคน จากการขยายฝูงบินเพิ่มเป็น 20-30 ลำ ด้วยการทยอยรับมอบ 3-5 ลำต่อปีนับจากนี้
ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินแอร์บัส A330 ประจำการ 8 ลำ ในสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มเป็น 11 ลำ ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มี 12 ลำ โดยเครื่องบินที่รับมอบเข้ามาจะนำไปเปิดเส้นทางบินใหม่ราว 3 เส้นทางในครึ่งปีหลัง
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ปีนี้จะรับมอบเครื่องบินเข้ามาอีก 5 ลำ และในปี 2568 จะรับมอบอีก 5 ลำเช่นกัน ทั้งหมดยังคงเป็นโบอิ้ง 737-800 หรือ โบอิ้ง 737-900ER เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ในสิ้นปี 2568 จะมีฝูงบินรวม 30 ลำ
โดยปี 62 ก่อนโควิด ไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 35 ลำ ปัจจุบันสามารถฟื้นฝูงบินกลับมาที่ 20 ลำแล้วแบ่งเป็นโบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ และ โบอิ้ง 737-900ER จำนวน 4 ลำ
นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวียตเจ็ทไทยแลนด์ กล่าวว่า ในปี 2568 มีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่จากค่ายโบอิ้งประมาณ 9-12 ลำ เพื่อนำไปทำการบินเส้นทางในเอเชีย ซึ่งมีอีกหลายเมืองที่ยังไม่ได้ทำการบิน โดยเฉพาะประเทศจีน
ช่วงครึ่งหลังปี 2567 เวียตเจ็ทไทยแลนด์จะเช่าเครื่องบินแอร์บัส A320 ระยะสั้นจำนวน 2 ลำ เข้าประจำการฝูงบินจากปัจจุบันที่มี 18 ลำ ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีผู้โดยสาร 7-8ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่แล้ว หลังครึ่งแรกปีนี้มียอดสะสมแล้ว 3.5-3.6ล้านคน
อย่างไรก็ตาม สายการบินทั่วโลกส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องบิน หาเครื่องบินไม่ค่อยได้ ทำให้เราต้องเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบิน (Utilization) จากเดิม 10 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน เพิ่มขึ้น 25% เป็น 12.5 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน
นอกจากนี้ตามแผนขยายฝูงบินในระยะยาวของเวียตเจ็ทไทยแลนด์ ที่จะเปลี่ยนยกฝูงไปใช้เครื่องบินจากค่ายโบอิ้งจำนวน 50 ลำภายในปี 71 ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม จะทำให้เวียตเจ็ทไทยแลนด์สามารถทำการบินได้ครบทุกจุดบินสำคัญมากขึ้น บินได้ไกลมากขึ้น เช่น จุดบินใหม่ในญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอื่นๆ
ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 86 จะมีผู้โดยสารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.1 เท่าเมื่อเทียบกับปี 66 หรือเติบโตเฉลี่ย 3.8% ต่อปี ทำให้มีผู้โดยสารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4,154 ล้านคน เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองส่วนแบ่งไปกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าว คิดเป็นจำนวนผู้โดยสารส่วนต่างเพิ่มขึ้น 2,750 ล้านคน เติบโตเฉลี่ย 5.3% ต่อปี สูงกว่าภาพรวมตลาด
หลังหมดยุคโควิด-19 ระบาด ธุรกิจสายการบินในประเทศไทยต่างเร่งการฟื้นตัว กู้รายได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ จัดเตรียมกลยุทธ์บริหารจัดการฝูงบินให้ยืดหยุ่น พร้อมรับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในอนาคต โดยเฉพาะดีมานด์ผู้โดยสารทะลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก