วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“สุริยะ”หวัง“รถไฟฟ้าราคาถูก-แก้จราจร” หารือคลังตั้ง“กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สุริยะ”หวัง“รถไฟฟ้าราคาถูก-แก้จราจร” หารือคลังตั้ง“กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน”

“สุริยะ” แจงปมซื้อคืนรถไฟฟ้า-ลุยจ้างเอกชนเดินรถ รับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปรับรูปแบบสัญญา พร้อมเร่งหารือกระทรวงการคลัง จัดตั้ง “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” นำงบประมาณมาดำเนินการ ย้ำทำเพื่อประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน ใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกลง-แก้ปัญหาการจราจรติดขัด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลายๆประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชนผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อ คืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในส่วนการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป อย่างไรก็ตาม จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษา ความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถใน ส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน

“ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดย ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่นสายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลถึงสภาพการจราจรในถนนตามแนวเส้นทางนั้นๆ ก็จะติดขัดน้อยลง โดยผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ ผมอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img