ราช กรุ๊ป ประกาศตัวพร้อมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก 120-150 เมกะวัตต์ กำลังดิลพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยีปลอดภัยสูงสุด พร้อมตามติดกฎเกณฑ์ส่งเสริมนิวเคลียร์ของภาครัฐตามแผนพีดีพี
นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) รวมถึงปัจจัยจากภูมิรัฐศาสตร์ (Geo politics) ที่ทำให้กำลังการผลิตพลังงานผันผวน และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เข้มข้นขึ้น และโลกดิจิทัล ทำให้มีโมเดลการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทฯจึงต้องทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุนในอนาคตให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลกและประเทศ รวมถึงศักยภาพและขีดความสามารถของบริษัท โดยจะเน้นทั้งโครงการใหม่ (Greenfield) และโครงการที่มีอยู่แล้ว (Brownfield)
ในส่วนของประเทศไทยเราประกาศความพร้อมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Reactor Modular : SMR) ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2567-2580 (พีดีพี 2024) ที่ภาครัฐกำหนดให้เข้าระบบ 600 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯกำลังศึกษาความเหมาะสมกับพันธมิตร รวมถึงกฎระเบียบ และประเมินผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยสูงสุดหากมีการนำมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมี SMR ใช้งานอยู่ที่จีน รัสเซีย และแคนาดา โดยในช่วง 5 ปีนี้จะประเมินการใช้เทคโนโลยีนี้และการยอมรับของประชาชนในประเทศนั้นไปพร้อมกัน ซึ่งระหว่างนี้อาจจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาที่ทำให้ประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าดีขึ้นอีก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องตามนโยบายและกฎเกณฑ์ของรัฐ ซึ่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเป็นหลัก
“เรายังประเมินไม่ออกว่าต้องลงทุนเท่าไหร่ต่อเมกะวัตต์ และ Business Model ต้องเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้มีการลงทุนเฉพาะเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มีการลงทุนเชิงสังคมด้วย ปัจจัยหลักต้องหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงสุดมาก่อน รองลงมา คือ เลือกลงทุนกับใครต้องดู Geo politics ด้วย ที่สำคัญอยู่ที่การ Support ของภาครัฐ เพราะ SMR ต้องได้รับการรับรองจากรัฐในหลายเรื่อง และไม่รู้รัฐจะให้ใครทำเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ถ้าให้เอกชนทำเราก็พร้อม และสุดท้ายก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย”นายนิทัศน์ กล่าว
ส่วนโมเดลการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) เรามีความพร้อมในเรื่องพื้นที่ที่จะรองรับนักลงทุน Data Center ซึ่งเป็นเป้าหมายของอุตสาหกรรมนำร่องตามนโยบายรัฐ โดยเรากำลังดิลนักลงทุนเพื่อให้บริษัทฯจัดหาไฟฟ้าสีเขียวป้อนให้
สำหรับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯนั้น จะทยอยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีกำลังผลิตแล้ว 2,974.67 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 27.5% คาดว่าจะถึงเป้าหมาย 30% ได้ภายใน 2 ปีก่อนระยะเวลาที่กำหนดตามแผนในปี 2573 และจะขึ้นไปที่สัดส่วน 35% ภายใน 4 ปี ส่วนเป้าหมายสูงสุดของเรา คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2593 ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงในปีนั้นจะไม่มีโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักเลย แต่หมายถึงต้องนำระบบกักเก็บพลังงาน (CCS) มาใช้ เพื่อไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่จะถึงเป้าหมายในปี 2593 บริษัทฯยังมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลักทั้งในและต่างประเทศอยู่ ซึ่งเราจะล้อไปกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้นๆ สำหรับเป้าหมายประเทศไทย และอินโดนิเซียมีโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และก๊าซธรรมชาติ เพราะมีแผนลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น ในส่วนของไทยจะลงทุนตามแผนพีดีพี 2024 โดยจะยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หากรัฐเปิดรับซื้อรอบใหม่ ส่วนสปป.ลาว จะเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำและส่งกลับมาประเทศไทย
ส่วนออสเตรเลีย มีศักยภาพการลงทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เพราะมีแผนเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน 82% ภายในปี 2573 จาก 39% ในปี 2566 มีแผนจัดหาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด 32 GW จึงต้องการโครงการใหญ่มารองรับ ออสเตรเลียจึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาพลังงานลม แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน และโครงการประเภท Synchronous Condenser ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าก๊าซฯ
ส่วนของโครงการกรีนไฮโดรเจน บริษัทฯร่วมกับ BIG พัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานทดแทนจากโครงการของบริษัทฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทย สปป. ลาว ออสเตรเลีย เพื่อจำหน่ายภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และการผลิตไฟฟ้าในอนาคต ระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบแบตเตอรี่ ซึ่งบริษัทย่อยในออสเตรเลียกำลังศึกษาโครงการในรัฐนิวเซาท์เวลส์
“สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในช่วงนี้บริษัทฯจะยังลงทุนต่อไปก่อน เป็นโรงไฟฟ้าที่หมดอายุก่อนปี 2593 โดยเราจะรักษาเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในปี 2593 เป็นต้นไป โดยกำลังดิลซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐเพิ่มเติม”นายนิทัศน์ ระบุ
ทั้งนี้ในปี 2567 บริษัทฯ จัดสรรเงินลงทุน จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดย 20% เป็นการ M&A (ควบรวมกิจการ) อีก 80% เป็นการลงทุนโครงการใหม่ ปัจจุบันมี 15 โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง กำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น รวม 1,773 เมกะวัตต์ มี 3 โครงการที่เพิ่งดำเนินการเสร็จในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น 392.7 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไพตัน อินโดนีเซีย กำลังการผลิต 742 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าคาลาบังก้า ฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 36.36 เมกะวัตต์ และมี 4 โครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จในครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น โคราช โรงไฟฟ้านวนครส่วนขยาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำซองเกียง1 เวียดนาม และโครงการกักเก็บพลังงานระบบแบตเตอรี่ LG2 ออสเตรเลีย กำลังผลิตตามสัดส่วนถือหุ้น รวม 40 เมกะวัตต์
ปัจจุบัน บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุน รวม 10,817.28 MW เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวม 7,842.61 เมกะวัตต์ คิดเป็น 72.5% และกำลังผลิตจากพลังงานทดแทน 2,974.67 คิดเป็น 27.5 % ทั้งนี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือนแรก (วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2567) จำนวน 1,740 ล้านบาท (0.80 บาทต่อหุ้น) กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 20 กันยายนที่จะถึงนี้ ทั้งนี้มั่นใจว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้จะคึกคักขึ้น จึงคาดว่ารายได้ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก