วันศุกร์, กันยายน 27, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight'หอการค้าไทย'เสนอ 6 มาตรการเพิ่มเติม สกัดสินค้านำเข้าต่างประเทศตีตลาดไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘หอการค้าไทย’เสนอ 6 มาตรการเพิ่มเติม สกัดสินค้านำเข้าต่างประเทศตีตลาดไทย

หอการค้าไทยเสนอ 6 มาตรการเพิ่มเติมสกัดสินค้านำเข้าต่างประเทศราคาถูกตีตลาดไทย ย้ำฟื้นกลไกการประชุมระหว่างรองนายกฯ เศรษฐกิจของไทยและจีน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ ครม.อนุมัติ 5 มาตรากรสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพทะลักเข้าไทยว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้หารือฝ่ายจีนเบื้องต้นทราบว่ารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการทำงานของไทย อย่างเต็มที่ เพื่อให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศเกื้อกูลกัน ซึ่งฝั่งไทยควรมีรองนายกฯ เศรษฐกิจ ที่ชัดเจนและเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับรองนายกฯ จีน ที่ชัดเจน 

รวมทั้งควรเสนอรองนายกฯ เศรษฐกิจของไทยให้รื้อฟื้นกลไกประชุมกับรองนายกฯ จีน ซึ่งปัจจุบัน คือ นายเหอลี่เฟิง ซึ่งเป็นคนสนิทกับนายสีจิ้นผิงและเคยมาเยือนไทยช่วงเอเปคพร้อมนายสีจิ้นผิง จะช่วยแก้ไขปัญหาเหมือนช่วงแก้ปัญหาทุเรียนไทยไปจีนช่วงโควิด-19

นอกจากนี้เห็นว่า มาตรการที่รัฐออกมายังไม่เพียงพอ เพราะสินค้าที่เข้ามามีช่องทางที่หลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งหอการค้าไทยจึงเสนอประเด็นเพิ่มเติมดังนี้

1.รัฐบาลไทยต้องหารือทางการจีนในการควบคุมมาตรฐานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร โดยเฉพาะมาตรฐานฝั่งไทย ทั้ง มอก.และ อย. โดยจีนต้องมีส่วนสำคัญในการช่วยคัดกรองสินค้าก่อนส่งออกมาไทย

2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำเข้า โดยเฉพาะศุลกากรต้องเข้มงวดในการตรวจสอบและสกัดสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาอย่างละเอียด ขณะเดียวกันสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่หลุดลอดมาแล้ว รัฐบาลต้องใช้กฎหมายอย่างจริงจัง 

ขณะที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนต้องมีส่วนในการช่วยชี้เบาะแส ถึงความผิดปกติ ของสินค้าที่ถูกลักลอบเข้ามาจำหน่ายในไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจสอบ และกวาดล้างสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพคุณภาพมาตรฐาน

3.มีมาตรการที่บังคับให้แพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ต่างชาติจำเป็นต้องเสียภาษีทั้ง VAT และภาษีรายได้ (จากยอดขาย ไม่ใช่กำไร) เพื่อทำให้จัดเก็บรายได้เข้าภาครัฐตามที่ควรจะเป็น

4.รัฐบาลต้องเข้มงวดและตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาเม็ดเงินจำนวนมากไหลออกนอกประเทศจากระบบชำระเงินของต่างชาติ ซึ่งต้องบังคับให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

5.การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติจำเป็นต้องมีมาตรการที่ให้นักลงทุนจำเป็นต้องใช้ Local Content ของไทยสัดส่วนมากที่สุด เพื่อทำให้ผู้ประกอบการในซัพพลายเชนเติบโตไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันในอนาคตเป็นการป้องกันปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เป็นการหลีกเลี่ยงข้อกังวลในการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

6.มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) รวมถึงอาจกำหนดราคาต้นทุนสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าที่นำเข้ามาในราคาถูกตีตลาดสินค้าในประเทศจนแข่งขันไม่ได้

ทั้งนี้ครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบมาตรการป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานที่เข้ามาไทยตามที่กระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากมีผู้ประกอบการไทยได้รับความเดือดร้อน และแข่งขันกับสินค้าจีนได้ยาก โดย ครม.เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหา 5 มาตรการหลัก 63 แผนปฏิบัติการ โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่

1.ให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้ระเบียบกฎหมายเข้นข้น เช่น บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือการได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น 

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สินค้าตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าที่จำหน่ายออนไลน์ โดยจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ รวมถึงการตรวจสอบผู้ประกอบการ/ผู้ให้บริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี

2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องการค้าอนาคต เช่น กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ต้องจดแจ้งและจัดตั้งนิติบุคคลในไทย เพื่อให้ภาครัฐกำกับดูแลประโยชน์ผู้บริโภคและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ 

ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศฯ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้แข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย 

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด

3.มาตรการด้านภาษี เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีรายได้นิติบุคคลภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Ant-dumping: AD) ภาษีตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention: AC) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG)

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษาการแก้ไขกฎหมายการทุ่มตลาดที่ให้เอกชนที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ฟ้องร้องมาเป็นให้รัฐบาลฟ้องแทนเพราะรัฐบาลรู้ถึงผลกระทบ และมีข้อมูลที่จะสามารถสู้กับบริษัทต่างชาติได้หากมีการกระทำในลักษณะทุ่มตลาดจนกระทบกับสินค้าในไทยจริง ทั้งนี้ในช่วงที่ยังไม่สามารถแก้กฎหมายได้ก็จะต้องให้ความรู้กับผู้ประกอบการมากขึ้น

ปัจจุบันกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศและแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าในไทยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร 

ขณะเดียวกันกรมการค้าต่างประเทศจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำขอและไต่สวนการใช้มาตรการ AD AC และ SG

4.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งภาคธุรกิจเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าไทยและการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ในการผลิต และขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน E-Commerce

5.สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นเช่น กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการผลักดันสินค้าและบริการไทยผ่าน E-Commerce ต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับ E-Commerce ในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ครม.มีมติให้ทุกหน่วยต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดทันที โดยรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายสัปดาห์ และจะมีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นตามสถานการณ์อาจพิจารณาปรับแผนดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

5 มาตรการสอดรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวข้างต้นได้คำนึงถึงความสอดคล้องกับความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า ควบคู่กับการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทยอย่างสมดุล ตลอดจนสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ โดยในเรื่องของการใช้มาตรการภาษียังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้หารือกันในเรื่องการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและติดตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในแต่ละด้าน และรายงานการแก้ปัญหาเรื่องนี้ รวมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคต่างๆให้รองนายกรัฐมนตรี หรือ รมช.พาณิชย์ที่เป็นประธานรับทราบเพื่อสั่งการให้ดำเนินการต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ที่ประชุม ครม.มีความเห็นว่าควรมีการเสนอเข้ามาภายหลังที่มี ครม.ชุดใหม่แล้วซึ่งคณะทำงานในเรื่องนี้ก็พร้อมที่จะเสนอ ครม.ชุดใหม่เพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯในเรื่องนี้ขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img