“พิพัฒน์” เร่งหาทางออกวางแผนดึงแรงงานภาคเกษตร คนสวน คนรับใช้ในบ้าน เข้าระบบอีก 5 ล้านคน หลังกองทุนประกันสังคมบักโกรกเสี่ยงล้มละลายใน 30 ปี จัดเวทีสัมนาดึงผู้เชี่ยวชาญกองทุนสิงคโปร์ ญี่ปุ่น แคนาดา สถาบันการเงินไทยถกแผนเพิ่มรายได้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะถึงจุดล้มละลาย จึงจำเป็นต้องหาทางยืดระยะเวลากองทุนประกันสังคมออกไป ในส่วนของการลงทุนจากเดิมที่เคยได้รับอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.4 % จะต้องขยายให้เป็น 5% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงร้อยละ 8 และจะต้องหาคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น จากที่มีอยู่กว่า 24 ล้านคน
ทั้งนี้ในปลายปีนี้จะเอาบางอาชีพที่เคยเป็นอาชีพงดเว้นไม่ต้องเข้าประกันสังคม เช่น อาชีพทางการเกษตร คนสวน และคนทำงานบ้าน ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว ให้เข้าระบบประกันสังคม โดยมีคนที่อยู่แบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายประมาณ 5 ล้านคน ในกลุ่มนี้อยู่ในระบบประกันสังคม 1.4 ล้านคน ถ้านำเข้ามาสู่ระบบให้ได้ 4 ล้านคน จะช่วยสร้างความมั่นคงถาวรให้กองทุนประกันสังคมได้
อีกทั้ง ภายในปีนี้สำนักงานประกันสังคมจะเดินหน้าเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนทุกมาตรา เช่น การขยายอายุเกษียณผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 60 ปี เป็น 65 ปี ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ และส่งเงินสมทบ 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต พร้อมเตรียมปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 800 บาท เป็น 1,000 บาท เมื่อออกจากงานแล้วยังสามารถรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อได้อีก 6 เดือน กรณีว่างงานให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนว่างงานจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงได้รับเงินชราภาพ
รวมถึงมาตรการ “3 ขอ” ทั้ง ขอกู้ ขอเลือก และขอคืน จะมีการนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง หลังเคยนำเข้าไปแล้ว 2 ครั้งในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน แต่ยังไม่มีการพิจารณา เชื่อว่าจะคลอดใน ครม.ใหม่นี้สำเร็จ
นอกจากนี้ในวันที่ 24-25 ตุลาคมนี้ จะจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อสรุปเกี่ยวกับทิศทางการสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคม มีผู้เชี่ยวชาญในการบริหารกองทุนจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแคนาดา พร้อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งบริษัทประกันภัยต่างๆ สถาบันทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และพรรคการเมือง ผู้มีความรู้ความสามารถด้านการเงินและเศรษฐกิจจะมาร่วมหาจุดยืนในการสร้างความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคม