วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightตัวเลขเปิดรับแรงงานสหรัฐฯต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก” เช้านี้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตัวเลขเปิดรับแรงงานสหรัฐฯต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก” เช้านี้

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับแรงงาน เดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับราว 7.7 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.1 ล้านตำแหน่ง

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า   ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.23 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 33.96-34.23 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวลดลงสู่ระดับราว 7.7 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 8.1 ล้านตำแหน่ง สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในแต่ละการประชุมที่เหลือในปีนี้ และโดยรวมเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า -100bps ในปีนี้

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถทยอยปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินโดยรวม

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ออกมาแย่กว่าคาด ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็น Nvidia -1.7% ถูกหมายเรียกในกรณีละเมิดกฎหมายผูกขาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.97% กดดันโดยแรงเทขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML -5.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมรวมถึงกลุ่มพลังงาน อาทิ LVMH -4.2%, Shell -1.1% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงล่าสุดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงภาวะระมัดระวังตัวของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.76% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ มองว่า ตลาดการเงินในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเผชิญความเสี่ยงผันผวนสองด้าน หรือ Two-Way Volatility ขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า ควรรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการที่จะรายงานในช่วง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของคืนวันพฤหัสฯ นี้ และข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะรายงานในช่วง 19.30 น. ของคืนวันศุกร์ โดยข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทางด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลง หลังรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนบ้าง ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 101.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.2-101.8 จุด)

ส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,525 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนสิงหาคม รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ อาจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้พอสมควร และอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินหลังทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

และในฝั่งไทย เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป Headline CPI ในเดือนสิงหาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 0.43% จากผลของระดับฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้า (+0.16%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็อาจยังคงอยู่แถวระดับ 0.54% ซึ่งแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เรามองว่า ธปท. จะไม่ได้กังวลต่อการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวมากนัก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

สำหรั แนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจนหลุดโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า ภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับที่เราประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์ว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสองทิศทาง (Two-Way Volatility) ตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดอาจจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ย จากข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาด

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หลังความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบในช่วงนี้ได้ (ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดใหม่ของปีนี้) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบดังกล่าวก็เป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่า ขณะเดียวกัน ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดในช่วงนี้ ก็อาจเปิดโอกาสให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้เช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรือ อย่างน้อยแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน รวมถึง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ

ซึ่งหากข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้บ้าง ในทางกลับกัน หากข้อมูลส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้ ซึ่งในภาพดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดอาจยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเร่งลดดอกเบี้ยในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวลดลงเพิ่มเติม หนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงไปมากนัก เนื่องจากภาพเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ดูไม่สดใสเช่นกัน ทำให้เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้างจากความกังวลเศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอตัวลงหนัก

อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.30 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)   

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img