วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘กทม.ฝีแตก’... ศึกนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กทม.ฝีแตก’… ศึกนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คิด

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีต้นเหตุมาจาก “ผับชื่อดังย่านทองหล่อ” ที่จนป่านนี้ ยังจับต้นเหตุไม่ได้เท่ากับเปลือยการทำงานของ “ผู้บริหารกทม.” อย่างล่อนจ้อนว่า “ไม่มีน้ำยา”

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมตั้งแต่ “ฝีแตกย่านคลองเตย” จนถึงวันนี้ สถิติการติดเชื้อของคนกรุงเทพฯ กลับไม่ลดลงและยังขยายวงไปยังชุมชนอื่นๆ ทั้งๆ ที่…ที่นี่คือ “ศูนย์กลางแห่งความเจริญและทันสมัย” ที่สุดของประเทศ แต่กลับรับมือไม่ได้

ความล้มเหลวส่วนหนึ่งเนื่องมาจากศักยภาพของความเป็นผู้นำของผู้บริหาร กทม. ที่ตามไม่ทันสถานการณ์ อาจเป็นผลมาจากเป็นตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้ง ทำให้ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ประกอบกับใกล้หมดวาระต้องเลือกตั้งใหม่ จึง “ขาดความกระตือรือร้น” ในการเข้าถึงและแก้ปัญหา จึงเกิดความล่าช้า

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ราว 2 สัปดาห์ มีสัญญาณว่าในชุมชนคลองเตย เริ่มมีคนติดโควิด แล้วผู้นำชุมชนร้องเรียนไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด โชคดีที่ผู้นำในชุมชนเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันเองได้

cr : FB ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

วิกฤติเที่ยวนี้ได้ประจาน “ระบบสาธารสุข” ของกทม.ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ทั้งจำนวนโรงพยาบาล “ไม่เพียงพอ” และ “ไม่มีระบบเครือข่าย” ระบบสาธารณสุขของกทม. ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้บริหาร มาทุกยุคทุกสมัย ลองคิดดูว่า มีคนหลั่งไหลจากทั่วประเทศและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอาศัยใน กทม. เกือบ 10 ล้านคน แต่มีโรงพยาบาลสังกัดใน กทม. ราวๆ 11 แห่งเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นในเขตต่างๆ ไม่มีโรงพยาบาลประจำเขต มีแต่สำนักงานอนามัย ต่างจากในต่างจัหวัด นอกจากมีโรงพยาลประจำจังหวัดแล้ว ยังมีโรพยาบาลอำเภอ และในตำบลยังมีสถานีอนามัย อย่างโคราช คนไม่ถึง 2 ล้านคน แต่มีโรงพยาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอทุกอำเภอใน 31 อำเภอ ในระดับตำบลยังมีสถานีอนามัยทุกตำบล

จะเห็นว่า ระบบสาธารสุขในต่างจังหวัด มีจำนวนมากกว่าและมีความเป็นเครือข่ายเข้มแข็งกว่าระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ การจัดการแก้ปัญหาโควิดระบาดได้ดีกว่าในกรุงเทพฯ เฉพาะอย่างยิ่งต่างจังหวัดมี “อสม.” เข้มแข็ง แต่กรุงเทพฯมี “อสม.” น้อย ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายการบริหารจัดการของ กทม. ที่เป็นองค์กกรท้องถิ่น รูปแบบการปกครองพิเศษได้ การทำงานจึงไม่ประสานกัน จะเห็นได้จากโรงพยาบาลสนามของกระทรวงสาธารสุข ใช้อาคารนิมิตรบุตร ซึ่งเป็นศูนย์กีฬา สังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา แทนที่จะใช้พื้นที่สนามกีฬาฯที่เป็นของกทม. อย่างสนามไทย-ญี่ปุ่น การทำงานที่ไม่ประสานกันระหว่างกทม.กับรัฐบาล ทำให้การแก้ปัญหาเกิดความอิหลักอิเหลื่อ

ปัญหาเหล่านี้นี้คือต้นเหตุที่ทำให้การแพร่ระบาดในกทม. ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดน้อย ทำให้ “เตียงไม่พอ” ต้องสร้างโรงพยาบาลสนาม แต่คนป่วยเมื่อเห็นสภาพโรงพยาบาลสนาม ที่ต้องไปอยู่รวมกัน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ก็ไม่ยอมไปอยู่ จึงใช้วิธีกักตัวเองอยู่บ้าน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญ ทำให้เกิดการติดต่อกันในครอบครัว ยอดผู้ป่วยจึงพุ่งสูงขึ้นทุกวัน

FB / กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 ใจกลางเมืองหลวง ผู้บริหารกทม.ได้แก้ปัญหาด้วยการ “คุมเข้ม” พื้นที่กทม. เพื่อปิดกั้นการแพร่กกระจายที่เกิดจากแหล่งบันเทิง เกิดจากชุมชนแออัดและครอบครัว แต่คนที่โดนหางเลขคือ “ผู้ประกอบการร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม” ที่ต้องบอบช้ำซ้ำซาก แต่ไม่มีมาตรการเยียวยาจากทางผู้บริหารของ กทม. จะมีแต่รัฐบาลที่ปัดฝุ่น “เราชนะ” และ “คนละครึ่ง” เอามาลด-แลก-แจก-แถม เหมือนเดิม จนถูกวิพากษ์วิจารย์ว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” เพราะไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการโดยตรง อีกทั้งนาทีนี้…คนต้องการ “วัคซีน” มากกว่า “เงินเยียวยา” จากรัฐบาล

สถานการณ์ใน กทม. เวลานี้ ไม่ต่างอะไรจากสภาพ “กรุงแตก” ล้มเหลวทั้งในเรื่องของ “สุขภาพ” อันเนื่องมาจากระบบสาธารณสุขอ่อนแอ และล้มเหลวทั้งระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ “การล็อกดาวน์” จากการระบาดระลอกแรก แม้ครั้งนี้ไม่ล็อกดาวน์ก็เสมือนกับ “การล้อมรั้ว” เดือดร้อนไม่น้อยกว่าล็อกดาวน์

ที่น่าเป็นห่วงตรงที่ หากสถิติการติดเชื้อยังอยู่ระดับเลข 2,000 คนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เกรงว่า กทม.และรัฐบาลจะเอาไม่อยู่ มิหนำซ้ำอาจจะทำให้คนต่างจังหวัดที่ทำมาหากินในกรุงเทพฯ ต้องอพยพ “หนีกรุง” กลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด พร้อมกับพาเอาเชื้อโควิดไปแพร่กระจายในต่างจังหวัดก็เป็นได้

ต้องบอกว่า ศึกครั้งนี้ไม่เพียงแต่ใหญ่หลวงเท่านั้น แต่ยังจะยืดเยื้อยาวนาน และจะเป็นบททดสอบศักยภาพในการบริหารจัดการของ “ผู้นำรัฐบาล” และ “ผู้ว่าฯกทม.” ว่าจะนำพากรุงเทพฯและประเทศชาติ…ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนี้ได้หรือไม่

…………………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img