“ชวน” แนะ “นายกฯอิ๊งค์” อยากให้คนไทยปรองดองต้องไม่เลือกปฏิบัติ เตือนนายกฯ-รมต. บริหารราชการแผ่นดิน ตามการถวายสัตย์ฯ ซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติ และรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่บริหารประเทศเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองของตัวเอง
วันที่ 13 ก.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาวาระคณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 วันสุดท้าย ต่อมาเวลา 13.55 น.นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.66 ได้เคยอภิปรายนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ วันนั้นเป็นการพูดในฐานะฝ่ายค้าน ส่วนวันนี้พูดในฐานะรัฐบาล แต่ไม่ว่าตนจะอยู่พรรคไหนก็ตามความจริงก็คือความจริง ความจริงไม่อาจเปลี่ยนไปตามฐานะ ดังนั้น ข้อมูลที่จะพูดถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขอย้ำว่าตอนนั้นตนต้องการให้รัฐบาลบรรจุปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ติดขัดที่ขณะนั้นนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาลไม่มีเรื่องนี้เลย แต่ขณะนี้รัฐบาลบรรจุไว้แล้ว แม้จะเป็น 1 บรรทัด แต่เท่ากับยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนถือหลักว่าชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน เราจะผิดพลาดนโยบายเศรษฐกิจขาดทุนเท่าไหร่ก็ไม่เท่าชีวิตคนว่า 7,500 คนที่เสียไปจากความผิดพลาดนโยบายด้านความมั่นคง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายว่าต้องการเห็นความสามัคคีปรองดอง เรื่องนี้ไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องปฏิบัติกับทุกคนอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ
นายชวน กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ นึกถึงประโยชน์ประเทศ และจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เรามีข้าราชการแต่ละกระทรวงพวกเขาไต่เต้าทำงานมาตามลำดับ เราต้องให้เกียรติข้าราชการ ซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตในการแต่งตั้งต้องไม่เอาตำแหน่งมาเป็นราคา ดังนั้น นักการเมืองต้องปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลให้โอกาสคนเหล่านั้นมาตามความสามารถไม่ใช่ด้วยราคา ส่วนการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชน วันนี้เหมือนระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา จึงอยากขอให้ครม. แปลความข้อนี้ให้ชัดเจนว่าการบริหารประเทศไม่ใช่เพื่อประโยชน์ พรรคการเมือง แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนสุดท้ายคือการยึดหลักนิติธรรมซึ่งเป็นหัวใจของการปกครอง ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้ายึดหลักนิติธรรมตั้งแต่ต้น ปัญหาจะเกิดขึ้น แต่บังเอิญช่วงหนึ่งเราใช้ฝ่ายบริหารเป็นศาลจึงเป็นที่มาของทุกวันนี้
“หากรัฐบาลยึดแนวทางข้างต้น คือ ยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงประโยชน์ประเทศประชาชน และยึดหลักนิติธรรม สิ่งนี้จะทำให้นโยบายต่างๆประสบความสำเร็จ” นายชวน กล่าว