วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE20ก.ย.ครบ1ปีเต็ม-ยื้อผลสอบข้อเท็จจริง ฟัน‘4นายพล’แทรกแซงหมายจับอดีตสว.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

20ก.ย.ครบ1ปีเต็ม-ยื้อผลสอบข้อเท็จจริง ฟัน‘4นายพล’แทรกแซงหมายจับอดีตสว.

แม้ว่า คดีจับกุม “ทุน มิน หลัต” คนสนิทผู้นำทหารเมียนมา ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกฟ้อง และอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ไปแล้ว

ประเด็นที่ยังเกี่ยวข้อง และต้องติดตามอย่างต่อเนื่องคือ

1.คดีเกี่ยวเนื่องกับอดีต สว.ที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับ “ทุนมินหลัต” ที่ถูกดำเนินคดีไปด้วย จะมีคำพิพากษาออกมาในเร็วๆ นี้

2.การตรวจสอบการจำหน่ายไฟฟ้าชายแดน ให้กับลูกค้าที่เป็นกลุ่มผิดกฎหมาย โดยเสนอไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน

3.การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำความผิด แทรกแซงหรือช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว

สำหรับประเด็นที่ 3 นั้น ในช่วงการดำเนินคดีอดีต สว. ชื่อของ “พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์” ถูกเอ่ยถึงในฐานะผู้ไปขออนุมัติหมายจับอดีต สว.

เนื่องจากมีการยื่นขออนุมัติออกหมายจับช่วงเช้า และสั่งถอนหมายจับช่วงบ่าย โดยเปลี่ยนเป็นหมายเรียกอดีต สว.แทน สุดท้าย “พ.ต.ท.มานะพงษ์” และ “หัวหน้าชุด” ถูกย้าย ออกนอกหน่วยงานสืบสวนสังกัดนครบาล

พอเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีการตั้งกรรมการสอบผู้เกี่ยวข้อง “การแทรกแซงคดี” กราวรูด ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งศาลยุติธรรม รวมถึง “ตำรวจระดับสูง” ที่กดดันเกี่ยวกับการทำคดีอดีต สว. แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีบทสรุปผลสอบสวนผู้เกี่ยวข้องออกมา

ในส่วนของตำรวจ มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อสำนักงานจเรตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าชี้แจง คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ที่มี “รังสิมันต์ โรม” เป็นประธาน กมธ.

รังสิมันต์ โรม

สรุปใจความได้ว่า ผบ.ตร.ในขณะนั้น มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีการแทรกแซงกระบวนการสอบสวน ออกหมายจับอดีต สว.หรือไม่ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2566

จากนั้น จเรตำรวจได้สอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง 24 ปาก พร้อมทั้งรวบรวมพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 มีข้าราชการตำรวจ 5 นาย แทรกแซงการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของพ.ต.ท.มานะพงษ์

ประเด็นที่ 2 การขอออกหมายจับของพ.ต.ท.มานะพงษ์ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่ 3 มีการสั่งการจากผู้บังคับบัญชา ถึงพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มิให้คัดค้านการประกันตัวของ “ทุน มิน หลัต” และพวก

ทั้งนี้ แม้ว่าพนักงานสอบสวนมีเจตนาที่จะคัดค้านการประกันตัวดังกล่าว แต่ได้รับการชี้แนะและสั่งการให้ละเว้นการคัดค้าน โดยมีผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้ 4 ราย

ประเด็นที่ 4 พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 7 นาย มีเจตนาประวิงเวลาในการออกหมายเรียก อันเป็นการช่วยเหลืออดีต สว.

ประเด็นที่ 5 การแต่งตั้งโยกย้ายชุดทำงานสืบสวนชุดทำคดีดังกล่าว 4 นายออกนอกหน่วย เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

โดยสรุปแล้ว มีตำรวจที่ “อาจจะ” กระทำความผิดทางวินัย “ร้ายแรง” เกี่ยวกับเรื่องนี้รวม 12 นาย

เป็นตำรวจยศ “พล.ต.อ.” 1 นาย เกษียณอายุราชการ ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565

รับราชการ 11 นาย แยกเป็น

ยศ “พล.ต.ท.” 1 นาย-“พล.ต.ต.” 2 นาย

ยศ “พ.ต.อ.” 3 นาย /ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการ 1 นาย และผู้กำกับการ 2 นาย

ส่วนที่เหลือเป็นตำรวจระดับสารวัตรและรองสารวัตร

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย แก่ข้าราชการตำรวจผู้กระทำความผิดดังกล่าว “ไม่มีอายุความ” ในการดำเนินการ

กล่าวคือ แม้การกระทำความผิดจะล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้ว หากผู้นั้นยังคงรับราชการอยู่สามารถดำเนินการทางวินัยได้

โดยมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ที่จะต้องดำเนินการทางวินัย “ทันที” ที่ทราบมูลเหตุแห่งการกระทำความผิด

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีการส่งสำนวนการตรวจสอบไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 20 กันยายน 2566 เสนอ ผบ.ตร. ให้สอบวินัยร้ายแรง ผู้เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงคดี 12 นาย

เวลาล่วงเลยผ่านไป จนในวันศุกร์นี้ 20 กันยายน 2567 จะครบ 1 ปีเต็ม ที่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ดังนั้น ประเด็นนี้ จึงอาจมองเป็น “จุดอ่อน” ตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชา พิจารณาพยานหลักฐานในเบื้องต้นเมื่อได้รับทราบมูลคดี แต่มิได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาไว้ จึงอาจมีการดึงเรื่องช่วยเหลือกันได้

นอกจากนี้ ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น พ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุแล้ว มาตรา 129 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ได้กำหนดให้ต้องดำเนินการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรงภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ

และต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จะไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้อีกต่อไป

สำหรับ “พล.ต.อ.” ที่มีส่วนแทรกแซงคดีนี้ คงรอดพ้นการตรวจสอบวินัยไปแล้วอย่างแน่นอน เพราะเกษียณตั้งแต่ปี 2565

ส่วน “3 นายพล” ที่เหลือ ตั้งแต่ระดับ รองผู้บัญชาการ และผู้บังคับการ ที่ “อาจมีส่วน” แทรกแซงคดีนี้ จะมีบทลงโทษอย่างไรตามมา หรือไม่นั้น

คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด

………………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img