วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSแก๊สโซฮอล์E10หรือE20จะเป็นอะไรแน่ ยัง‘อีรุงตุงนัง’รอ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ฟันธง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แก๊สโซฮอล์E10หรือE20จะเป็นอะไรแน่ ยัง‘อีรุงตุงนัง’รอ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ฟันธง

ยังอีรุงตุงนังสำหรับ แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567-2580 (Oil Plan 2024) แม้จะรับฟังความเห็นเสร็จไปตั้งแต่ 28 มิ.ย.2567 แต่ยังไม่ลงตัวในประเด็นการกำหนดน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ซึ่งตามแผนนี้มีข้อกำหนด 4 เรื่อง คือ

1.หาข้อสรุปว่า จะให้น้ำมันชนิดไหนเป็นเบนซินพื้นฐาน ระหว่างแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 95 กับแก๊สโซฮอล์ E20

2.แนวทางยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 91 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

3.ทบทวนโครงสร้างราคาของแก๊สโซฮอล์แต่ละประเภทให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

4. ส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน

จริงๆ นานเป็นปีละ ที่หาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะเอา “เบนซินชนิดไหนเป็นพื้นฐาน” ถามไถ่ “กรมธุรกิจพลังงาน” ในฐานะแม่งาน อ้ำอึ้งมาตลอด รอให้ “รมว.พลังงาน-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ประกาศเอง เพราะหารือกับผู้ผลิตเอทานอลและกลุ่มเกษตรกรหลายต่อหลายรอบ ไม่ลงตัวเสียที ยืนกรานว่า ขอแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นเบนซินพื้นฐาน  ขณะที่นโยบายกระทรวงพลังงานฟันธงแก๊สโซฮอล์ E10 มาตลอด

เหตุผลของกระทรวงพลังงาน เพราะราคาเอทานอลที่ผู้ค้านำมาขายแพงเกินไป มีการเก็บข้อมูลราคาขายเอทานอล เฉลี่ยเดือนม.ค.-ก.ย.2567 อยู่ที่ 30.79 บาทต่อลิตร แพงกว่าน้ำมันพื้นฐานฟอสซิลเยอะไป การที่ราคาเอทานอลที่อยู่ในระดับสูงนั้น แน่นอนว่า ส่งผลต่อต้นทุนราคาน้ำมัน

ตามโครงสร้างราคาน้ำมันล่าสุด ณ วันที่ 17 ก.ย.2567 ในส่วนของราคา ณ โรงกลั่น แก๊สโซฮอล์ E10 ราคา 17.9373 บาทต่อลิตร ส่วน E20 ราคา 18.9311 บาทต่อลิตร ต่างกัน 0.9938 บาทต่อลิตร แต่ที่ราคาขายปลีกหน้าปั๊ม E10 แพงกว่า อยู่ที่ 35.35 บาทต่อลิตร ขณะที่ E20 อยู่ที่ 33.24 บาทต่อลิตร

เป็นผลมาจากการเก็บภาษี E10 สูงกว่าทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็สูงกว่า E10 เก็บอยู่ที่ 4.9 บาทต่อลิตร ส่วน E20 เก็บ 2.91 บาท ที่เป็นอย่างนี้ เพราะฐานการคิดที่ว่า E20 มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีผลดีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การที่กระทรวงพลังงาน ต้องทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสะท้อนต้นทุน เพราะเหตุว่า ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การชดเชยราคาให้กับเชื้อเพลิงชีวภาพ จะสิ้นสุดในเดือนก.ย.69 ถึงเวลานั้นจะไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับทั้ง E10 และ E20 ได้

แต่นั่นแหละ ตามความเป็นจริงก็ไม่ได้มีการชดเชย E10 และ E20 ตั้งแต่ ต.ค.2564 ปัจจุบันมีจัดเก็บน้ำมันทั้งสองชนิดเข้ากองทุนฯเสียด้วยซ้ำไป E10 เก็บเข้า 4.9 บาทต่อลิตร ส่วน E20 เก็บ 2.91 บาท

อย่างไรก็ดีการที่กระทรวงพลังงานบอกว่า ต้องเป็น E10 เพราะมีรถยนต์และจักรยานยนต์จำนวนหนึ่ง ที่ผู้ผลิตยังไม่รับรองการใช้ E20 ผู้ค้าน้ำมันอย่าง “เชลล์” ได้กล่าวไว้ในเวทีรับฟังความเห็นเมื่อ 28 มิ.ย.2567 ว่า ยอดการใช้ E20 ทรงๆ ไม่ได้กระเตื้องมากนัก หรือราว 5-6 ล้านลิตรต่อวัน หมายความว่า E20 ไม่ได้เป็นที่นิยม

เมื่อทบทวนแล้ว กระทรวงพลังงานยืนยันที่จะให้ E10 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน และสามารถฟันธงได้ตั้งนานมาแล้ว เพราะทางแก้ไขกำลังการผลิตล้น ก็มีอยู่ในการส่งเสริมนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF)

มาดูสถานการณ์การผลิตและการใช้เอทานอล ปัจจุบันมี 28 โรงงาน กำลังผลิตเต็มอยู่ที่ 6.65 ล้านลิตรต่อวัน การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้าทำให้การใช้น้ำมันลดลง เอทานอลที่นำไปผสมเป็นเชื้อเพลิงจึงลดลงมาต่อเนื่อง ในปี 2567 มีการใช้เอทานอลอยู่ 3.54 ล้านลิตรต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของกำลังผลิต

ผู้ผลิตเอทานอล และกลุ่มเกษตรกรรู้อยู่แล้วว่า เทรนด์การใช้เอทานอลลดลง แต่ประเด็นของเขาก็คือ การส่งเสริมนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ยังทำไม่ได้เป็นรูปธรรมเสียที จึงต้องขอเกาะอยู่ที่ตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไปก่อน จึงยืนกรานขอให้พลังงานเลือก E20 เป็นเบนซินพื้นฐาน เพื่อให้รักษาระดับไว้ที่ 3.25 ล้านลิตรต่อวัน แต่หากเป็น E10 การใช้เอทานอลจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 1.55 ล้านลิตรต่อวัน เรียกว่ารอวันเจ๊ง

มีข้อมูลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า การเลือก E20 เป็นเบนซินพื้นฐาน ผู้ผลิตเอทานอลจะขายของได้ 1,620 ล้านลิตรต่อปี แต่หากเป็น E10 ปริมาณการขายจะลดลงเหลือ 540 ล้านลิตรต่อปี รายได้ของผู้ผลิตหายไป 13,650 ล้านบาทต่อปี ส่งผลไปยังรายได้เกษตรกรลดลง 7,300 ล้านบาทต่อปี จุดนี้คือน้ำหนักในการต่อรองที่สำคัญ

ข้อมูลจากสำนักงาน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย และสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผลผลิตเอทานอลมาจากกากน้ำตาล 59% หรือ 2 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนมันสำปะหลัง 41% หรือ 14 ล้านลิตรต่อวัน กากน้ำตาลที่นำมาผลิตเอทานอลคิดเป็น 84% ของกากน้ำตาลทั้งหมด รายได้เกษตรกรจากกากน้ำตาลที่นำไปผลิตเอทานอลเฉลี่ย 7,916 ล้านบาทต่อปีคิดเป็น 7.8% ของรายได้ทั้งหมดที่เกษตรกรได้รับจากการปลูกอ้อย (ข้อมูลเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี 2562-2566)

ส่วนมันสำปะหลังที่นำมาผลิตเอทานอลคิดเป็น 9% ของผลผลิตทั้งหมด ที่เหลือนำไปผลิตเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังป้อนตลาดในประเทศและส่งออก รายได้ที่เกษตรกรได้รับจากการขายหัวมันสดที่นำไปผลิตเอทานอลเท่ากับ 9,293 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 9% ของรายได้ทั้งหมด (ข้อมูล ณ ปี 2565)  

“รังษี ไผ่สอาด” นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังฯ บอกว่า แต่ละปีราคาผลผลิตไม่เท่ากัน บางปีก็ต่ำ บางปีก็สูง ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบที่นำไปผลิตราคาเอทานอล ดังนั้นเราไม่ควรมองเฉพาะช่วงที่ราคาสูง ราคาต่ำก็มี และหากเทียบผลดีกับการที่เราให้เบนซินพื้นฐานเป็น E20 ทำให้ผลผลิตถูกดึงนำไปเป็นเอทานอล ราคาผลผลิตก็ไม่ตกต่ำ ลดภาระรัฐบาลในการประกันราคาสินค้าเกษตรทั้งอ้อยและมันสำปะหลังกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับการส่งเสริมให้นำเอทานอลเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉพาะในกระบวนการผลิตสุรานั้น ยังไม่ถูกปลดล็อก อยู่ในขั้นตอนเพิ่งเริ่มหารือ สดๆร้อนตั้งวงคุยเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยกรมสรรพสามิตได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางการบริหารงานสุราสามทับที่เหมาะสมของประเทศไทย โดยมีแนวทางให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเอทานอลสามารถขออนุญาตผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80-100% ให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.อาหาร 2.ผลิตสารเคมี 3.เครื่องสำอาง 4.เภสัชกรรมและสาธารณสุข 5.พลาสติก 6.สีและสารเคลือบ 7.พลังงาน 8.ทำความสะอาด 9.สมุนไพร

“เรื่องนี้คุยกันมานาน แต่ก็ไม่สำเร็จ ต่างกระทรวงต่างทำงาน โยนกันไปมา ไม่มีการบูรณาการรวมกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง พลังงาน และพาณิชย์ ทุกคนรู้ว่า ความต้องการใช้เอทานอลไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ในอนาคตจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นการเปิดทางให้เอทานอลสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ จึงเป็นทางออกที่สำคัญ ทั้งต่อโรงงานผลิตเอทานอลและเกษตรกรเอง ซึ่งการปลดล็อกนั้น จริงๆ ก็ไม่ต้องแก้กฎหมาย เหมือนตอนการแพร่ระบาดของโควิด ที่อนุญาตให้นำเอทานอลไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ ก็ทำโดยออกประกาศกระทรวงการคลังเท่านั้น” นายกฯสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง ระบุ

เรื่อง “เบนซินพื้นฐาน” จะเป็น E10 อย่างที่กระทรวงพลังงานต้องการ หรือ E20 อย่างที่ผู้ผลิตเอทานอลและเกษตรกรต้องการ จากข้อมูลเหตุผลก้ำกึ่ง เพราะ E20 ถ้าเกษตรกรยืนยันว่า เขาได้ประโยชน์มากกว่า E10 ใครๆ ก็ต้องเชื่อ เพราะพลังของเกษตรกรทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ในทางการเมืองคงมองข้ามไม่ได้ อีกอย่างยุคสังคมคาร์บอนต่ำ อะไรที่ทำให้การปล่อย CO2 ลดลงได้ย่อมได้เปรียบ ซึ่งในปี 2580 หากเป็น E10 การปล่อยคาร์บอนจะเป็น 12.25 ล้านตันต่อปี แต่หากเป็น E20 จะเหลือ 11.13 ล้านตันต่อปี

เรื่องนี้คงไม่จบที่ “รมว.พลังงาน” ฟันธงแน่นอน ผู้ผลิตเอทานอลและเกษตรกร ซึ่งคอนเนคชั่นไม่ธรรมดา คงขอให้ “ศูนย์กลางอำนาจแท้จริง” เป็นคนฟันธง E20 ให้

“รังษี ไผ่สอาด” บอกให้ฟังแบบหนาวๆ ว่า ถ้าไม่ใช่ E20 ภายในเดือนก.ย.2567 และปลดล็อกให้นำเอทานอลไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่นได้..ก็คงมีลงถนน !!

……………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…..”สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img