วันจันทร์, ธันวาคม 30, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พท.”ส่อล็อก“พรรคร่วมฯ”หนุนแก้รธน. ถ้าหือโดนดีดตามรอย“บิ๊กป้อม-พปชร.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พท.”ส่อล็อก“พรรคร่วมฯ”หนุนแก้รธน. ถ้าหือโดนดีดตามรอย“บิ๊กป้อม-พปชร.”

การขยับพร้อมๆ กัน ของ “พรรคเพื่อไทย” พรรคแกนนำรัฐบาล และ “พรรคประชาชน” พรรคแกนหลักฝ่ายค้าน

ที่ต่างก็เสนอ “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา” เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ที่มีคิวจะพิจารณากันช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้

กลายเป็นเรื่องร้อนทางการเมือง เพราะเริ่มมี “กระแสคัดค้าน-ไม่เห็นด้วย” เนื่องจาก “เนื้อหา-เจตนารมณ์” ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเพื่อไทยยื่นไปแล้วเมื่อ 19 ก.ย. และพรรคประชาชนก็ยื่นไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การล้างมรดก คสช.” เช่น ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติฯ

แต่พรรคประชาชนก็มีคิวจะยื่นอีกแพ็กเกจคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” และ “องค์กรอิสระ” คือ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ที่เชื่อมโยงถึงเรื่อง “มาตรฐานจริยธรรม” ที่ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี-ส.ส.และสว.

ที่จะพบว่าเนื้อหาหลักๆ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเท่าที่เปิดเผยออกมา ล้วนแล้วแต่เป็น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่าย “นักการเมือง-พรรคการเมือง” ได้ประโยชน์ล้วนๆ

โดยเฉพาะการปลดล็อกเรื่อง “คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี” และการให้นายกฯและรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(4) และ (5)

ที่สรุปเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ในเรื่อง มาตรฐานจริยธรรมฯ จะทำให้คนที่จะเข้าไปเป็นรัฐมนตรี เข้าไปรับตำแหน่งได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมามีปัญหาเรื่องการถูกตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นเหมือนการตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “นักการเมืองสีเทา” ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เช่น มีเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ ป.ป.ช. แต่คดียังไปไม่ถึงศาลฎีกา หรือเป็นจำเลยในชั้นศาลยุติธรรม แต่คดียังไม่ถึงที่สุด แบบนี้ก็สามารถเข้าไปเป็นรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น

อย่างเช่นในร่างของพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขมาตรา 160 (4) ที่รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ระบุว่า “ผู้จะถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ต้องมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์” ก็เสนอแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต”  

ส่วน มาตรา 160 (5) ที่ปัจจุบันบัญญัติว่า “ต้องไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ก็เสนอแก้ไขว่า “ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกาเท่านั้น” ที่ก็คือ หากเป็นเรื่องที่ยังไม่ส่งฟ้องศาล เช่นอยู่ในการพิจารณาของตำรวจ-อัยการ-กรมสอบสวนคดีพิเศษ-ป.ป.ช.-สตง. โดยเรื่องยังไม่ส่งไปที่ศาลฎีกาฯ ก็ไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม และหากตีความตามตัวอักษร ก็หมายถึง หากผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีมีคดีอยู่ในชั้นศาลยุติธรรม ที่มีด้วยกัน 3 ศาล คือศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์-ศาลฎีกาฯ ถ้าแบบนี้…เกิดคดีอยู่ในชั้นศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ก็ถือว่าไม่มีลักษณะต้องห้าม สามารถเป็นรัฐมนตรีได้

และขณะเดียวกัน ก็ทำให้ “นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี” หรือ “สส.-สว.” หากถูกร้องว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมฯ โดยเรื่องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างของพรรคเพื่อไทยสำเร็จลง มีผลบังคับใช้ ผลก็คือทำให้ “คนที่ถูกร้อง” มีสิทธิ์ลุ้นสู้คดีให้รอดได้มากขึ้น เพราะตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ้นจากตำแหน่ง ต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของตุลาการศาลรธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่

ที่ก็คือ หากปฏิบัติหน้าที่ครบ 9 คน ก็ต้องใช้เสียงขั้นต่ำ 6 เสียงถึงจะทำให้ ผู้ถูกร้องหลุดจากตำแหน่ง จากปัจจุบันที่ให้ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน อย่างที่ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยมติ 5 ต่อ 4

ตลอดจนยังมีอีกบางประเด็นที่กำลังเริ่มถูกสังคมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ ในเชิงตั้งคำถามว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ “ประชาชนได้ประโยชน์อะไร” เพราะเห็นชัดว่า เป็นการแก้ไขเพื่อนักการเมืองล้วนๆ เพื่อทำให้ตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งง่ายขึ้น-ถูกตรวจสอบยากขึ้น-และหากถูกตรวจสอบ ก็ถูกทำให้เอาออกจากตำแหน่งได้ยากขึ้น  

ทำให้ทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่จะร่วมกันเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึง “พรรคประชาชน” พรรคหลักของฝ่ายค้าน หากไม่สามารถชี้แจงประชาชนได้ มันก็ทำให้นอกจากไม่มีเสียงสนับสนุนแล้ว แรงต้าน- เสียงคัดค้านจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน จะจับมือกันโหวตเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยมีสว.มาร่วมโหวตเอาด้วย แต่ก็จะเป็นการใช้ “เสียงข้างมาก” ในรัฐสภา ท่ามกลางกระแสไม่เห็นด้วยจาก “ประชาชนนอกรัฐสภา” ที่อาจทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ อาจขาดความชอบธรรม

เรื่องนี้แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล ก็เริ่มพบว่า มีการส่งสัญญาณการเมืองออกมาบ้างแล้วว่า “ไม่ค่อยโอเค” กับพรรคเพื่อไทย ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่จะไปลดดีกรีความเข้มข้นในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมลงมา

ภราดร ปริศนานันทกุล

อย่างความเห็นของ “ภราดร ปริศนานันทกุล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง และสส.อ่างทอง-รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ระบุว่า “ในความเห็นส่วนตัว เรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีคำถามว่าจริยธรรมเป็นไม้บรรทัดที่ต้องเข้มงวดกับนักการเมืองหรือไม่ ประชาชนมีมุมมองแบบไหน เป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือไม่ นักการเมืองมองแทนประชาชนไม่ได้ คนพูดต้องเป็นประชาชน ดังนั้นต้องคิดให้รอบคอบ ต้องแก้เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยประชาชนเลือกส.ส.ร. เขียนกติกา รวมถึงจริยธรรมด้วย จะเข้มงวดแค่ไหน ถึงขั้นระดับศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาเลยหรือไม่”

“ผู้มีส่วนได้เสียไปพูด สังคมไม่ฟัง เรื่องนี้คุยกับเพื่อนสส. บอกว่าอันตรายและเซนซิทีฟ” ภราดร กล่าวย้ำ

สอดรับกับ “ธนกร วังบุญคงชนะ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงและผ่านการทำประชามติของประชาชน หากจะเป็นการแก้รายมาตรา ก็ควรแก้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วน หรือแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชนก่อนจะดีกว่า โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) (5) มีเจตนารมณ์สำคัญในการป้องกันบุคคลที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง หากมีการแก้ไขตรงนี้หรือทำให้เบาลง อาจจะเป็นการเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยแท้เข้ามามีอำนาจได้”

ธนกร วังบุญคงชนะ

“ฝากรัฐสภาให้มีการคิดทบทวนในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะถ้ารัฐสภา ทั้งสส.และสว.ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมดังกล่าว อาจถูกสังคมและประชาชนมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง แก้เพื่อนักการเมืองเสียเอง และหากถูกยื่นร้องให้ตรวจสอบอาจส่อไปในทางที่ขัดต่อกฎหมายได้ จึงควรคิดพิจารณาให้รอบคอบ” ธนกร ออกโรงเตือน

เป็นท่าทีจาก 2 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ที่ส่งสัญญาณเหมือนกับ หวั่นเกรงว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ อาจไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เพราะอาจเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้าม ใช้จังหวะนี้สร้างกระแสต่อต้านและขยายผลมาถึงการล้มรัฐบาลเพื่อไทยได้ จนทำให้รัฐบาลเจอศึกนอกรัฐสภา ก่อนเวลาอันควรทั้งที่หลีกเลี่ยงได้

ก็ไม่รู้ว่า สัญญาณอึดอัดของพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ฟังหรือไม่ ซึ่งหาก “เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร” ต้องการให้สำเร็จจริง ก็อาจกดดันไปถึง “พรรคร่วมรัฐบาล” ว่า หากไม่ลงเรือลำเดียวกัน ไม่หนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทย

ก็ให้ระวัง อาจถูกปรับออกจากรัฐบาล ไปเป็นฝ่ายค้าน แบบ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พลังประชารัฐ” จะเอาไหม!!!!

…………………………………………….

คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง

โดย “พระจันทร์เสี้ยว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img