“ภท.” ทวงถามมาตรการเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม “พิพัฒน์”เผย ธอส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยภาคแรงงาน เตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคตสร้างอาชีพอิสระ
วันที่ 26 ก.ย.2567 เวลา 10.40 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานในการประชุม มีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของน.ส.ผกามาศ เจริญพันธุ์ สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย(ภท”) สอบถามนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงผู้ปรกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดกิจการ บางโรงงานยังไม่สามารถกลับมาเกิดเปิดกิจการได้
นายพิพัฒน์ ชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคม มีมาตรการดูแลผู้ประกันตนตามมาตรา33 และ39 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจนไม่สามารถทำงานได้ จะเยียวยา 50 % ของค่าจ้างแต่ละวัน ไม่เกิน 180 วัน พร้อมทั้งนำถุงยังชีพไปมอบให้จังหวัดที่ประสบอุทกภัย หลังจากอุทกภัยผ่านไปแล้ว กระทรวงแรงงานมีหน้าที่เข้าไปช่วยซ่อมแซม บำรุงรักษา โดยเฉพาะบ้านที่เกิดอุทกภัย ระบบไฟในบ้านเสียหาย ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการระดมช่างในทุกจังหวัดของภาคเหนือเข้าไปช่วยด้วย ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมยังทำเอ็มโอยูกับธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ช่วยเหลือเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกันตนในการกู้ คนละไม่เกิน 2 ล้านบาท วงเงิน 10,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 5 ปี อยู่ที่1.59%
“ในอนาคตที่ภัยพิบัติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทางกระทรวงแรงงานจึงมีมาตรการสร้างอาชีพอิสระให้แรงงาน ตามนโยบาย 1 ตำบล 1 กลุ่มอาชีพอิสระ โดยเน้นให้ใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ทำได้ในพื้นที่อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านตัวเอง ใช้ประกอบอาชีพ เพื่อเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ ดูแลสิ่งแวดล้อม ลดสภาวะโลกร้อนอีกทาง”รมว.แรงงาน กล่าว