วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเมื่อเงินบาทแข็งค่าหนัก “โจทย์ใหญ่” รัฐบาลเร่งแก้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เมื่อเงินบาทแข็งค่าหนัก “โจทย์ใหญ่” รัฐบาลเร่งแก้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ วันนี้ เรื่องของ ค่าเงินบาทแข็งค่า กำลังกลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” หลุดพูดว่า เป็นข้อดีของการส่งออก แม้จะมีการออกมาชี้แจงเพิ่มเติมภายหลังว่า “สับสน” ก็ตาม

แต่กระแสดั่งว่า…ได้กลายเป็น ไวรัลยอดฮิต แถมยังกลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ถามหา “ความพร้อม” ของการอาสาเข้ามาเป็น “นายกรัฐมนตรี” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดากูรู บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลาย

อาจเรียกได้ว่า “การหลุด” ในครั้งนี้ อาจนำ-อาจสื่อไปในเชิงการเมือง แบบประเภทที่เรียกว่า ค่าบาทแข็งไม่เพียงแค่ทุบเรื่องการส่งออกเท่านั้น กลับกลายเป็นว่า ไปทุบการเมืองซ้ำเข้าด้วยนี่สิ!! อาจกลายเป็นเรื่องที่ชวนให้คิด

จนถึงขณะนี้คงต้องรอให้ระยะเวลา เป็น ยารักษาบาดแผล ของ “นายกฯแพทองธาร” ไปก่อน เพราะเชื่อว่าคงอีกไม่ช้าหลายคนหลายฝ่ายอาจลืมเรื่อง “อาการหลุด” นี้ไปได้เอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เรื่องของเงินบาทแข็งค่านี้ ไม่สามารถที่จะมองข้ามผ่านไปได้ ถึงขนาดที่ ภาคเอกชน 8 องค์กร ได้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง หรือ แบงก์ชาติ จับเข้าคุยกันให้ชัดเจน ว่าจะดูแลในเรื่องนี้อย่างไร ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

เพราะ…เวลานี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก โดยต้นปีอยู่ที่ประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แล้วก็ทะยอยแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ มาเป็น 36 บาท 33 บาท แล้วล่าสุด…ก็เคลื่อนไหวอยู่ที่ 32 บาทเศษ

ภาคเอกชน บอกว่า การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทในช่วงนี้ คิดเป็นเปอร์เซนต์แล้ว ก็แข็งค่ามากกว่า 10-12% เข้าไปแล้ว เมื่อเงินบาทแข็งค่ามากเช่นนี้ จะทำให้กระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันราคาส่งออก

เพราะ…สินค้าส่งออกของไทยจะมีราคาแพงขึ้นในตลาดโลก กระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดากลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข้าว สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารกระป๋อง ที่พบว่าได้รับผลกระทบไปแล้วไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท

หลักใหญ่ใจความ ก็เป็นเพราะสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นการขายออเดอร์ล่วงหน้าหลายเดือน โดยในช่วงนั้นมีการกำหนดราคาไว้ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่เวลานี้เงินบาทอยู่ที่ 32 บาทเศษ ถ้าไม่ทำประกันความเสี่ยงไว้ ตอนนี้ก็พากันขาดทุนหัวโต

ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เงินบาทที่แข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของจีดีพี หากค่าเงินยังแข็งค่าเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ผู้ส่งออกยิ่งมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

ไม่เพียงเท่านี้…เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติ

อย่าลืมว่า เวลานี้ การท่องเที่ยวได้กลายเป็นเครื่องยนต์หลักที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการส่งออก ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย โดยปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้ไว้ถึง 3.5 ล้านล้านบาท

หากนักท่องเที่ยวเห็นว่า มาเที่ยวแล้วไม่คุ้มค่าต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แล้วหันไปเที่ยวประเทศอื่นแทน ก็จบเห่!! ความคาดหวังก็จะไปไม่ถึงดวงดาวเข้าให้อีก


มาจนถึงขณะนี้ ใช่ว่าเรื่องนี้จะโยนบาปไปให้เพียงแค่แบงก์ชาติอย่างเดียว ก็ไม่ใช่เช่นกัน หลังจาก “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ที่ยืนยันหนักแน่นว่า แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด

ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงในอัตรา 0.50% ในรอบ 4 ปี ทำให้ดอกเบี้ยลดลงจากอัตรา 5.25-5.50% สู่อัตรา 4.75-5%

การลดดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ได้ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศด้วยเช่นกัน หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ในทางกลับกัน หากสหรัฐฯปรับลดดอกเบี้ย จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทในเวลานี้ จะมาจากหลายปัจจัยก็ตาม โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนจากต่างประเทศ

เอาเป็นว่า… เวลานี้ ข้อเท็จจริง คือ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ตรงนี้!! ผู้มีอำนาจ ผู้กำกับดูแล จะบริหารจัดการอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารความคิดของทั้งฝั่งรัฐบาลโดยมีหน้าเสื่ออย่าง “ขุนคลัง” กับ “แบงก์ชาติ” ที่ใครๆ ก็มองว่าเป็น “รัฐอิสระ” เกินงาม จะมาอยู่ตรงกลางร่วมกันได้อย่างไร เพื่อประโยชน์ของคนในชาติ!!

ตรงนี้…คงต้องจับตามองกันต่อไป!!

………………..
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img