วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSวัดใจ“พท.”ขับ“พล.อ.พิศาล”พ้นพรรค หากปล่อย“คดีตากใบ”หมดอายุความ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วัดใจ“พท.”ขับ“พล.อ.พิศาล”พ้นพรรค หากปล่อย“คดีตากใบ”หมดอายุความ

ได้เห็นความเคลื่อนไหว “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ออกมาเปิดโปง การลาประชุมสภาผู้แทนราษฎรของ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66-19 ก.ย.67 ซึ่งมีการประชุมรวม 95 ครั้ง แต่พล.อ.ประวิตรขาดประชุมไป 84 ครั้ง พร้อมทั้งยื่นเรื่องให้ “องค์กรอิสระตรวจสอบ” ว่า ผิดจริยธรรมหรือไม่ และเรียกร้องให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

แม้ “อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย” จะอ้างว่า “ไม่ได้รับงานใครมา-ไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร” แต่คนที่ติดตามการเมืองก็มองออก การเดินเกมครั้งนี้เป็นการตอบโต้กระบวนการ “นิติสงคราม” ของพรรคพลังประชารัฐ หลัง “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรค ยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทยเกินกว่า 10 เรื่องไปแล้ว   

หลังพรรคพลังประชารัฐที่ “บิ๊กป้อม” ดูแล ต้องตกอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาเกิดประเด็นร้อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ขอลาการประชุมสภาฯ โดยมี คดีความสำคัญเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าสภ.ตากใบ สมัยทำหน้าที่เป็น “แม่ทัพภาคที่ 4” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี

ต้นเหตุ โศกนาฏกรรมที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ในยุคที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกฯ โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งทหาร ตำรวจ จับประชาชนเป็นร้อยๆ คนที่ไปยืนชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “กามา อาลี” กับพวกรวม 6 คน ผู้ต้องหา ที่เป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) โทษฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไปจากหน้าสถานีตำรวจ สภ.ตากใบ จากนั้นมีการจับผู้ชุมนุมนับร้อยคนไปอยู่ในรถบรรทุก 25 คัน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 78 คน อันเนื่องมาจากขาดอากาศหายใจ

เลยกลายเป็นอีกหนึ่งในคดีอาญา ที่ใช้เวลาดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องนานนับสิบปี โดยเรื่องค้างอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จนใกล้ครบ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้

ซึ่งตัวเลขนี้มีความหมายกับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะถ้าครบ 20 ปีเมื่อไหร่ ตามกฎหมายถือว่า คดีหมดอายุความ เมื่อถึงวันนั้นก็จะกลายเป็นว่าผู้ต้องหาลอยนวล กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติสุขโดยไร้มลทิน ไม่ต้องต่อสู้เรื่องคดีความอีกต่อไป

สำหรับ “คดีตากใบ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งมีอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทย์ฟ้องผู้ต้องหา 8 ราย ประกอบด้วย ผู้ต้องหาที่ 1 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร. 5) เป็นผู้สั่งสลายการชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 2 ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 3 วิษณุ เลิศสงคราม เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 4 ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 5 ปิติ ญาณแก้ว เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 6 พ.จ.ต.รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ เป็นพลขับ ผู้ต้องหาที่ 7 พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ และผู้ต้องหาที่ 8 ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ เป็นพลขับ

ประยุทธ เพชรคุณ

ขณะที่เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา “ประยุทธ เพชรคุณ” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าว กรณี “อสส.” มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบในส่วนนี้ สรุปสาระสำคัญคือ สั่งฟ้องต่อศาลไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา และเนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เรียกผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมารับข้อกล่าวหา อสส.จึงต้องแจ้งไปยัง “พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ผบ.ตร. (ขณะนั้นยังไม่เกษียณอายุราชการ) เพื่อให้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งหมด 8 คน และส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการ จ.ปัตตานีต่อไป

หากนำตัว “ผู้ต้องหา 8 คน” มาขึ้นศาลไม่ทันสั่งฟ้อง บุคคลเหล่านี้ก็จะหลุดจากคดีในความผิด กลายเป็น “คนบริสุทธิ์”

ส่วนที่สอง มีญาติผู้เสียชีวิตเป็นโจทก์ ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น โดยเมื่อวันที่ 23 ส.ค. “ศาลจังหวัดนราธิวาส” รับฟ้อง และนัดสอบคำให้การครั้งแรกในวันที่ 12 ก.ย. แต่ปรากฏว่า จำเลยไม่ปรากฏตัวต่อศาล ทำให้ศาลออกหมายจับจำเลย 6 คน จากทั้งหมด 7 คน ได้แก่ 1.พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 2.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า 3.พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผบช.ภ. 9 ( อดีตผกก.สภ.ตากใบ) 4.พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า 5.ศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผอ.กอสส.จชต.) และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 6.วิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส 

ส่วน 1 คนที่ไม่ได้ออกหมายจับ คือ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาค 4 จำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ด้วยความที่ยังมีสมาชิกภาพเป็น สส. ผู้แทนปวงชน จึงมีเอกสิทธิ์คุ้มกันระหว่างสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ศาลจังหวัดนราธิวาส

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 1 หรือ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” ตามคำร้องขอให้พิจารณาออกหมายจับจำเลยที่ 1 ของทนายความโจทก์ โดยศาลพิเคราะห์แล้วว่า วันที่ 12 ก.ย.2567 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสส. ไม่มาศาล แม้ในวันนัดจะมีการประชุมสภาฯ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย การพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ 1 จะไปประชุมสภาฯ เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คือ ภายในวันที่ 25 ต.ค.2567 ศาลสั่งด้วยว่าการดำเนินการตามหมายจับ ให้ตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับได้ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 มาตรา 5 (5)

อนึ่งเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรมและความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มกันของสส.หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในชั้นพิจารณา เห็นสมควรให้งานสารบรรณมีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งข้อเท็จจริงตามที่สภาฯมีหนังสือตอบกลับมาว่า ระหว่างสมัยประชุมสส.และสว. ไม่มีความคุ้มกันในชั้นพิจารณา รวมถึงกรณีการจับกุมและกุมขังในคดีอาญาด้วย

ทั้งนี้ หมายจับจำเลยทั้ง 7 อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลจังหวัดพระโขนง ศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลจังหวัดสมุทรสงคราม  และศาลจังหวัดตลิ่งชัน

และเมื่อคดีใกล้หมดอายุความ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์  ในช่วง รรท.ผบ.ตร. ได้นำคณะบินด่วน ลงพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า อ.เมืองฯ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา กวดขันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับให้ทันเส้นตายที่เหลือ เมื่อรับนโยบายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ระดมกำลัง ออกล่าตัวผู้ต้องหา ไม่ว่าจะเป็นบ้านของ “พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล” ที่สงขลา, บ้านของ “พ.จ.ต.รัชเดช ศรีสุวรรณ” ที่ สงขลา, บ้าน “ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส” ที่ จ.ตรัง

รุ่งขึ้น วันที่ 5 ต.ค. ก็บุกค้นบ้าน “พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ” ที่ อ.สวี จ.ชุมพร, บ้าน “วิชม ทองสงค์” อดีต ผวจ.นราธิวาส ที่จ.นครศรีธรรมราช, บ้าน “จ.ส.อ.ปิติ ญาณแก้ว” ที่ จ.นครศรีธรรมราช, บ้านของ “ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์” จ.นครศรีธรรมราช, บ้านของ “พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์” อดีต ผบช.ภ.9 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี, บ้านของ “พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ จ.นนทบุรี, บ้านของ “พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์” ที่จ.สมุทรสงคราม

แต่ผลปฏิบัติการ ไม่สามารถจับใครได้เลยแม้แต่คนเดียว โดยบรรดาญาติ หรือคนที่อยู่ที่บ้าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ออกจากบ้านไปนานแล้ว ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ติดต่อไม่ได้ หรือบอกว่าเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้จะกลับเมื่อไร

ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์

ด้าน “ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีศาลจังหวัดนราธิวาส ออกหมายจับพล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี กรณีไม่ยอมไปขึ้นศาลพิจารณาคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุม อ.ตากใบว่า ที่ผ่านมาเลขาธิการศาลยุติธรรมเคยมีหนังสือมาถึงสภาฯขออนุญาตดำเนินคดีกับพล.อ.พิศาล สำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีหนังสือตอบกลับไปยังเลขาธิการศาลยุติธรรม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 124 วรรคสี่ ให้สามารถดำเนินคดีกับพล.อ.พิศาลได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาขออนุมัติจากสภาฯ หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจะจับกุม พล.อ.พิศาลหรือไม่

“ถือว่าสภาฯมีมติตามรธน.มาตรา 124 วรรคสี่ เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องมาขออนุญาตต่อสภาฯอีก หลังจากนี้เป็นดุลพินิจศาล ถ้าเจอตัวพล.อ.พิศาล ก็จับได้เลยเพียงแต่วันใดมีการประชุมสภาฯ ศาลต้องปล่อยตัวพล.อ.พิศาลกลับมาประชุม พอประชุมเสร็จแล้วให้นำตัวกลับไปควบคุมใหม่” เลขาธิการสภาฯ กล่าว

เลขาธิการสภาฯ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีพล.อ.พิศาล ไม่เคยมาประชุมสภาฯเลยนั้น พล.อ.พิศาลยื่นหนังสือลาประชุมต่อสภาฯแจ้งเหตุผลว่าป่วย และเดินทางไปรักษาตัวต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. ถึง 30 ต.ค.67 ซึ่งนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯได้ลงนามหนังสืออนุมัติให้

คำถามจึงมีไปถึงพรรคเพื่อไทย ในฐานะต้นสังกัด จะแสดงท่าที่อย่างไร กับการช่วยนำตัว “พล.อ.พิศาล” กลับมาดำเนินคดี ซึ่งเหลือเวลาเพียง 16 วัน ก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

อย่าลืมก่อนหน้านี้สังคมได้รับรู้ กรณี “ทักษิณ” นอนพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ หลังยอมรับโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่ได้ถูกคุมขังในเรือนจำซักวันเดียว จนได้รับการพักโทษ ซึ่งในที่สุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็เข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดยด้บทสรุปว่า มีการเลือกปฏิบัติ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ  

ดังนั้นถ้า “พล.อ.พิศาล” ไม่ถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ อันเนื่องมาจากการขาดอายุความ จะยิ่งสั่งสมความไม่พอใจของคนที่ติดตามเรื่องนี้ และมองว่ากระบวนการยุติธรรม ถูกทำลายในยุค “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” อาจหาช่องทางที่จะฟ้องร้อง หรือยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบฝ่ายบริหาร  

บางทีการแสดงความรับผิดชอบของพรรคแกนนำรัฐบาล โดยมีมติขับ “พล.อ.พิศาล” ออกจากพรรค เพื่อหลีกเลี่ยง ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาจช่วยเยียวยาความรู้สึกของบรรดาครอบครัวที่ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบได้ไม่มากก็น้อย

แม้ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานสส. พรรคเพื่อไทย จะออกมาให้ความเห็นกรณีที่กระแสสังคมเรียกร้องให้ทางพรรคตามตัวพล.อ.พิศาลจากเหตุที่ศาลออกหมายจับในคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราเป็นผู้แทนราษฎรไม่สามารถไปติดตามใครได้ เพราะเหนืออำนาจของเรา ตอนนี้เป็นเรื่องอำนาจของศาล ที่จะออกหมายเรียก-หมายจับ เราเองก็ไม่ทราบว่า ท่านไหนไปอยู่ที่ไหนบ้าง สุดแล้วแต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องไปติดตาม

ส่วนจะกระทบต่อคะแนนเสียงหรือภาพลักษณ์ของพรรคหรือไม่นั้น “วิสุทธิ์” ระบุว่า “ไม่เกี่ยวกัน เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่เรื่องนโยบายพรรค ใครคนใดคนหนึ่งทำผิดไป พรรคไม่ได้รับผิดชอบ ก็แล้วแต่จะคิดกันไป เรื่องอื่นๆ ที่น่าติดตามมีเยอะแยะ โคลนเต็มเชียงรายเดือดร้อนกันหนัก เชียงใหม่ก็เดือดร้อนหนัก เรื่องพวกนี้น่าสนใจมากกว่า”

ความเห็นดังกล่าว เท่ากับว่า “ไม่สนใจอำนาจตุลาการ” ซึ่งถือเป็นหนึ่งเสาหลัก ที่เป็นหลักในการบริหารประเทศ ซึ่งอาจกลายเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด และอาจเป็นผลร้ายตามมาในภายหลัง อย่างคาดไม่ถึง

…………………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img