‘สส.’ หัก ‘สว.’ !! มติ 348 เสียง! ไม่เอาด้วยแก้เกณฑ์ทำประชามติ2ชั้น งดออกเสียง 65 ต้องตั้งกมธ.ร่วมฯ28คน ‘เพื่อไทย-ปชน.’ ประสานเสียงท้วง ชี้เป็นการเหมารวมคนไม่เห็นชอบ-ไม่มาใช้สิทธิ์ เป็นการ ‘ตอกตะปูปิดฝาโลงแก้รธน.’ ขณะที่ ‘ปชน.’ ด้าน ‘ภูมิใจไทย’ ไปทางเดียวกับ ‘สภาสูง’ ยันเพื่อเป็นหลักประกันความชัวร์ สร้างเชื่อมั่น-สง่างาม
วันที่ 9 ต.ค.2567 เวลา 14.25น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งเป็นร่างฯที่วุฒิสภา(สว.) แก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาฯ พิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137 โดยสส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับสว.หรือไม่
ทั้งนี้มีสส.ที่อภิปรายแสดงความเห็น ทั้ง พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย อภิปรายเห็นแย้งกับบทบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไข ในประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติซึ่งกำหนดให้การทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ ผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับและงบประมาณ ทั้งนี้ยังได้เห็นว่าแม้สส.ไม่เห็นชอบกับวุฒิสภาแก้ไข สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันใช้บังคับตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือนก.พ.68
โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายเห็นแย้งกับการแก้ไขของวุฒิสภา และยืนยันให้คงร่างเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไปแล้วว่า เป็นเรื่องปกติที่สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาจะมีมุมมองที่ต่างกันบ้างในบางเรื่อง แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อย้อนไปดูบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภาจะพบอาการกลับไปกลับมาของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ทั้งนี้ แม้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นเป็นกติกาที่ผู้สนับสนุน มักให้เหตุผลว่าเป็นกติกาที่ให้ความสำคัญกับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง แต่ในทางกลับกัน กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นกลับจะเป็นกติกาที่ไปเพิ่มแรงจูงใจให้คนบางกลุ่มไม่ออกมาใช้สิทธิออกเสียง และทำให้คนออกมาใช้สิทธิออกเสียงมีแนวโน้มจะลดน้อยลง
“ผมยืนยันว่าสภาฯแห่งนี้ควรจะยืนยันหลักการของการหันมาใช้กติกาแบบเสียงข้างมาก 1 ชั้น ไม่ใช่เพื่อจะทำให้ประชามติผ่านง่ายขึ้น แต่เพื่อให้กติกาสำหรับการทำประชามติในทุก ๆ เรื่องที่มีความเป็นธรรมระหว่างฝ่ายที่อยากเห็นประชามติผ่านกับฝ่ายที่ไม่อยากเห็นประชามติผ่าน จะเป็นกติกาประชามติที่ไม่เปิดช่องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์จากการรณรงค์ให้คนไม่ออกมาใช้สิทธิ แต่เป็นกติกาประชามติที่ทำให้ทุกฝ่ายมีแรงจูงใจในการรณรงค์เชิงความคิดและเชิญชวนคนที่คิดคล้าย ๆ กันให้ออกมาลงคะแนนเสียงให้เยอะที่สุด เพื่อให้สังคมใช้คูหาประชามติเป็นช่องทางในการหาข้อสรุปร่วมกัน ว่าสังคมนั้นจะเดินไปในทิศทางไหน” พริษฐ์กล่าว
ขณะที่ สส.ของพรรคภูมิใจไทยที่ลุกอภิปรายและเห็นต่างกับพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย โดยเห็นด้วยกับที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมทีาให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก2ชั้น อาทิ น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้น คล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภาฯ สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่าจำเป็นต้องสะท้อนให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันที่การทำประชามติในเรื่องกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่นยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%
“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียว สามารถทำได้ และไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯ เห็นด้วยกับสว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือนเพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก” น.ส.มัลลิกา อภิปราย
ขณะที่น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แก้หมวดหนึ่ง หมวดสอง ทั้งนี้ การแก้ไขของสว. นั้นพอรับฟังได้ เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซ็ตอะไรไว้ จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความง่างาม
“การไม่กำหนดเสียงขั้นต่ำ หรือ เกินกึ่งหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า สง่างามและสวยและเป็นข้ออ้างดีที่สุด คือ กำหนดเสียงขั้นต่ำ คือ กึ่งหนึ่ง หากมีการตั้งกมธ.ร่วมสองสภาฯ ในชั้นกมธ. จะบอกว่ากังวลเกณฑ์เยอะเกินไป สามารถใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน4 ก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปเลย หากไม่เซ็ตเสียงไว้ ในเรื่องต่างๆ อาจมีคนออกมาใช้สิทธิแค่ล้านคน จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นการทำประชามติของประเทศ สิ่งที่สว.แก้ไขมาพอรับฟังได้” น.ส.แนน บุณย์ธิดา อภิปราย
ทั้งนี้ ในการอภิปรายตอนหนึ่งของ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนสนับสนุนสภาฯ ให้ยืนยันหลักการที่รับไปแล้ว ส่วน สว. จะรับหลักการหรือไม่ไปเจรจากันเอง คิดว่าทำได้ หากไม่ทำจะเสียหาย ต่อให้มีใบสั่งมา ไม่เชื่อว่าจะรอดตาประชาชนได้ พรรคที่กลับไปกลับมาจะเสียหาย ยขาดความศรัทธาจากประชาชน ผลจะออกมาในกาเลือกตั้งทั่วไป ว่าพรรคนั้นเชื่อถือไม่ได้ ขอให้คุยกันอีกรอบ เจรจาให้ได้ เสียเวลาอย่างไรก็ช่างมัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก การแก้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนจะทำให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง บ้านเมืองชัดเจนและพัฒนาเจริญรุ่งเรือง
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตอนหนึ่งว่า หากกำหนดเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง2 ชั้น เท่ากับว่าจะนับรวมผู้ลงมติไม่เห็นชอบกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิรวมกันปิดประตูตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญ หากจะเปิดประตู ต้องทำประชามติอย่างเดียวกันกับประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ตั้งเกณฑ์ใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4
ทั้งนี้หลังจากที่สส. อภิปรายจนครบ จึงได้ลงมติ เสียงข้างมาก 348 เสียงต่อ 0 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนน1เสียง ดังนั้น เมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ ฝั่งสส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของสว. ที่ประชุมสภาฯจึงได้ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่….) พ.ศ…. จำนวน 28 คน แบ่งเป็นสัดส่วน สส. 14 คน และสว.14คน ที่คาดว่าทางสว.จะมีการประชุมเพื่อเลือกบุคคลส่งเข้าไปเป็นกมธ.ร่วมฯ ในวันที่15ต.ค.นี้ จากนั้นนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งปิดประชุมในเวลา16.18น.