วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับภารกิจท้าทาย สร้างความมั่นคง-เพิ่มรายได้-ดึงนักลงทุน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับภารกิจท้าทาย สร้างความมั่นคง-เพิ่มรายได้-ดึงนักลงทุน

ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพา “ฟอสซิล” ต่อไปอีกพักใหญ่ และต้อง “นำเข้า” เพิ่มด้วย โดยเฉพาะ “ก๊าซธรรมชาติ” การเพิ่มกําลังการผลิตในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด ซึ่งต้องมาถูกที่ถูกเวลามีความจำเป็น เพื่อทำให้ต้นทุนประเทศไม่พุ่งสูงเกินไปจนกระทบศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

เราได้มีโอกาสคุยกับ “วรากร พรหโมบล” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งมีงานท้าทายในมืออยู่มากมาย เขา เล่าว่า “เราต้องเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ ในประเทศ ทั้งบนบก อ่าวไทย และอันดามัน ขณะนี้กรมฯได้เสนอเรื่องไปยังรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว เพื่อเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 จำนวน 9 แปลง เป็นแหล่งบนบก 7 แปลง อยู่ในภาคอีสาน อีก 2 แปลงอยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการกำหนดพื้นที่แปลง ซึ่งการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในภาคอีสานเพิ่มเติมนั้นจะช่วยป้อนโรงไฟฟ้าเสริมความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคอีสานได้อย่างดี”

วรากร พรหโมบล

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและประเมินศักยภาพบริเวณพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อเสนอ เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลรอบที่ 26 อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้เคยเปิดมาแล้วหลายครั้งและพบร่องรอย แต่ผู้ประกอบการยังไม่มีการพัฒนาและคืนพื้นที่ เนื่องจากเป็นน้ำลึกซึ่งในอดีตต้นทุนสูงไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมากทำให้ต้นทุนลดต่ำลง

ขณะเดียวกันพื้นที่อันดามันก็มีโอกาสพบปิโตรเลียม เป็นระดับการสำรวจและพัฒนาในน้ำลึก 200 เมตรขึ้นไป โดยจุดลึกสุดอาจจะถึง 2 กม. ที่เราเชื่อมั่นอย่างนั้น เพราะทะเลทางด้านที่ติดกับเมียนมาร์มีการสำรวจและผลิตอยู่แล้ว ส่วนอินโดนีเซียบริเวณติดกับพื้นที่ของไทย บริษัท มูลบาดาลา ได้รับสัมปทาน 3 แหล่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติระดับโลกหลายราย ให้ความสนใจหากไทยเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯรอบ 26 ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีเทคโนโลยีและวิธีการขั้นสูงในการตีความหมายเพื่อประเมินผล เราจึงเชื่อว่าการเปิดรอบ 26 จะมีนักลงทุนสนใจจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในช่วงต้นปี 2568  

อย่างไรก็ตาม การกำหนดแปลงที่จะเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯนั้น แน่นอนว่า ต้องหลีกเลี่ยงพื้นที่อ่อนไหวต่างๆ เช่น เกาะ และเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นต้น และด้วยเทคโนโลยีการสำรวจขุดเจาะแหล่งน้ำลึกจะไม่มีแท่นกลางทะเลให้เห็นต่างจากอ่าวไทย ทุกอย่างจะอยู่ใต้น้ำทะเลลึกทั้งหมด แต่ทั้งนี้ต้องผ่านกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

นอกจากการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯรอบแล้ว ยังมีแนวทางอื่นๆ เพื่อเพิ่มสำรองปิโตรเลียมในประเทศโดยได้ เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อต่ออายุสัญญา ซึ่งตามกฎหมายปิโตรเลียมของประเทศไทย กำหนดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไว้ 30 ปี (กรณี Thai I) หรือ 20 ปี (กรณี Thai III) และให้ต่อระยะเวลาผลิต 10 ปี ได้ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้แหล่งปิโตรเลียมหลายแหล่งที่สิ้นสุดระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมแล้ว แต่ยังมีศักยภาพอยู่ เช่น กรณีแหล่งเอราวัณ (แปลง G1/61)  และแหล่งบงกช (แปลง G2/61) ต้องใช้วิธีเปิดให้ยื่นสิทธิฯรอบใหม่

ปัญหาที่ตามมาอย่างกรณีแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังมีศักยภาพที่ต้องเปิดประมูลใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนจากสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ เปลี่ยนผู้ดำเนินงานจาก บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ทำให้การผลิตก๊าซฯไม่ต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานของประเทศตามมา

“วรากร” ระบุว่า ช่วงเปลี่ยนมือจากผู้รีบสิทธิเดิมเป็นรายใหม่ ทำให้กำลังผลิตหายไปจริง แต่ทีมงานของกรมฯก็ทำงานกันอย่างหนักที่จะให้มีแหล่งอื่นๆ มาเสริมทำให้กำลังการผลิตภาพรวมเท่าเดิมไม่หายไป ตอนนี้แหล่งเอราวัณผลิตเต็มที่ 800 ลบ.ฟุตต่อวันโดยไม่มีวันหยุดเลย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 จนกว่าจะถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องชัตดาวน์ตามแผน เพื่อพักซ่อมบำรุง

“คอนเซปต์ในอดีตคิดว่าระยะเวลาการให้สัมปทาน 30 ปีบวกอีก 10 ปีน่าจะมากพอ แต่เวลาผ่านไปเมื่อผู้ประกอบการเข้าไปพัฒนาเห็นศักยภาพจริง ประกอบกับเทคโนโลยีก้าวล้ำไปเรื่อยๆ การพัฒนาก็ทำต่อไปได้ แต่การล็อคเวลาให้ต่ออายุได้เพียงครั้งเดียว 10  ปี ทำให้การลงทุนในระยะท้ายของสัญญาไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ประกอบการมองว่ารีเทิร์นกลับมาไม่ทัน ไม่รู้ว่าเปิดประมูลใหม่จะได้ต่อหรือไม่ ทำให้ในภาพรวมของประเทศไม่สามารถบริหารทรัพยากรได้เต็มประสิทธิภาพ” วรากร ระบุ

ส่วนจะแก้ไขกฎหมายให้ต่อสัมปทานไปอีกกี่ปีนั้น แนวทางที่คิดไว้ควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะเป็นช่วงท้ายของการพัฒนา ซึ่งแต่ละแหล่งมีศักยภาพที่เหลือไม่เหมือนกัน

เขาย้ำว่า มีสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาผลิตที่ได้รับการต่อ 10 ปีเป็นอีกแหล่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสมจะกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมของไทย ได้แก่ แหล่งน้ำมันดิบสิริกิติ์ แปลงสำรวจหมายเลข S1 ที่มี บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด เป็นผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบบนบกที่มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบสูงที่สุดของประเทศอยู่ที่ประมาณวันละ 25,000 บาร์เรล ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตที่ได้รับการต่อ 10 ปี ในปี 2574

ประเด็นปัญหาที่สำคัญของแหล่งนี้คือ การขอเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะพื้นที่ของแปลง S1 อยู่ในบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก และสุโขทัย ที่เป็นทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ ส.ป.ก. และนิคมสร้างตนเอง เป็นต้น ซึ่งถ้าต้องมีการนำมาเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ เหมือนกรณีแหล่งเอราวัณ อาจต้องมีการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ใหม่ ทำให้มีโอกาสที่แหล่งน้ำมันดิบจะไม่สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และต้องหยุดผลิตเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ รวมถึงกระทบต่อรายได้ของประเทศด้วย

ส่วนความก้าวหน้าของการเปิดรอบที่ 24 ไปในปี 2565 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย และมีผู้มาขอรับสิทธิทั้ง 3 แปลงและลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566  ประกอบด้วย ปตท.สผ.อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิฯแปลง G1/65 และ G3/65 บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แปลง G2/65 ปัจจุบันทางเชฟรอนอยู่ระหว่างการเปิดให้กลุ่มบริษัทบางจากเข้าร่วมลงทุนด้วย ถือเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ตอนนี้ทั้ง 3 แปลงอยู่ระหว่างการสำรวจ ต้องรอผลในช่วง 3 ปีแรกว่า จะพบปิโตรเลียมมากน้อยแค่ไหน

สำหรับหลุมที่กำลังผลิตต่อเนื่องนั้นก็มีโอกาสเพิ่มกำลังผลิต ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มาช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประกอบด้วย

1.การใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกว่า IGR (Improved Gas Recovery) โดยติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน (Booster Compressor) ซึ่งมีการใช้ทั้งกับแหล่งก๊าซในอ่าวไทย และแหล่งสินภูฮ่อม

2.การเพิ่มประสิทธิภาพการขุดเจาะ โดยการเจาะหลุมผลิตแบบ Batch Drilling หรือเจาะเป็นชุดๆ พร้อมกันหลายหลุม รวมทั้งมีเทคโนโลยีที่ทำให้มีการทำงานอย่างอื่นไปพร้อมกัน เรียกว่า SIMOP (Simultaneous Operation) ทำให้การเจาะหลุมผลิตทำได้เร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่าย

3.การใช้เทคโนโลยี MWD (Measurement while drilling) เข้ามาช่วยวัดค่าต่างๆ ที่จำเป็นในการผลิตไปพร้อมกับการเจาะหลุม ทำให้เจาะหลุมได้เร็วขึ้น และเริ่มการผลิตได้เร็วขึ้น

4.การเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบโดยใช้เทคโนโลยี Swabbing Unit ทำให้ผลิตน้ำมันดิบจากหลุมที่อัตราการผลิตต่ำมากได้เพิ่มอีก โดยการส่งอุปกรณ์ลงไปตัก (Swabbed) น้ำมันดิบที่เหลืออยู่ให้ขึ้นมาได้มากที่สุด

นอกจากนี้ถ้ามีการสำรวจในพื้นที่ทะเลอันดามัน และค้นพบปิโตรเลียมอาจจะนำเทคโนโลยี Subsea wellhead มาใช้ ซึ่งใช้สำหรับการผลิตในแหล่งน้ำลึก หรือติดตั้งหัวหลุม (Wellhead) ที่พื้นทะเล (Subsea) แทนการสร้างแท่นหลุมผลิต

อีกเรื่องที่กรมฯต้องทำไปพร้อมกัน คือ การบริหารจัดการการผลิตก๊าซฯของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยง shortage ของก๊าซฯ โดยไม่ให้การหยุดซ่อมบำรุงแต่ละแหล่งหยุดพร้อมกัน เพราะเราพึ่งพาก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูง

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การพัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้เทียบกับการเก็บสำรองไว้สำหรับใช้ยามจำเป็นแล้วใช้วิธีนำเข้าแนวทางไหนจะดีกว่ากัน “วรกร” บอกว่า เราเทียบกับประเทศอื่นอย่างสหรัฐไม่ได้ เพราะว่าสหรัฐมีปริมาณสํารองปิโตรเลียมมากมาย จนสามารถที่จะเลือกได้ว่า จะพัฒนาจุดไหนขึ้นมาใช้และจะเก็บตรงไหนไว้ แต่ประเทศไทยเรามีสำรองน้อยมาก ต้องพึ่งการนำเข้า โดยเฉพาะก๊าซฯเมื่อต้องพึ่งพามากขนาดนี้ ก๊าซฯในประเทศไม่พอก็ต้องขยับไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งราคาสูงกว่าก๊าซฯที่ผลิตในประเทศอย่างมาก

“ก๊าซฯถือเป็นเชื้อเพลิงสะอาดที่มีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานก่อนที่เราจะไปพลังงานหมุนเวียนยังเข้ามาไม่ได้เต็มที่ และถึงแม้จะไปที่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นแล้ว ก็ต้องมีก๊าซฯเป็น back up เป็นเรื่องของความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ซึ่งเราต้องโฟกัส เพราะเป็นเชื้อเพลิงฐานของโรงไฟฟ้า เราควรจะผลิตแหล่งในประเทศขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ก่อนรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี” วรกร กล่าวย้ำ

อีกเรื่องใหญ่ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้กับประเทศได้ ซึ่งกรมฯต้องเป็นเจ้าภาพหลักคือ การพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) ที่ผ่านมากรมฯได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะคืบหน้าได้เมื่อเริ่มมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมาเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่าง 2 ประเทศ ภายใต้กรอบความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2544 ที่มีสาระสำคัญสรุปคือ ให้ทั้งสองฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจน 2.พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน โดยให้ดำเนินการทั้งสองประการควบคู่กันไปไม่อาจแบ่งแยกได้ (Indivisible Package) และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เป็นกรอบการเจรจา

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาพื้นที่ OCA นั้น จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ลดการนำเข้า ลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคา และลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในประเทศ โดยเชื่อว่าเมื่อมีคณะกรรมการมาเจรจาอย่างเป็นทางการทุกประเด็นจะมีความชัดเจนและเรื่องนี้จะคืบหน้าได้

ทางด้านของการดูแลสิ่งแวดล้อมถือว่ากิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีบทบาทไม่น้อย กรมฯอยู่ระหว่างร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้การนำเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) มาใช้ในพื้นที่สำรวจและผลิต และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ “วรากร” ยอมรับว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในปัจจุบัน มีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่มีการพิสูจน์ทราบศักยภาพปิโตรเลียมมีน้อยลง ขณะที่ประชากรของประเทศเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับกระแสการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่แปลงสำรวจบนบกที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับที่ดินในความรับผิดชอบของส่วนราชการอื่น รวมถึงการเข้าทำประโยชน์ของเอกชนในบางพื้นที่มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์มากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดต้นทุนให้กับประเทศ ทั้งเป็นกิจการสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้นจึงต้องการขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ นำแนวทางการสำรวจและพัฒนาศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของหน่วยงาน ให้การตรวจสอบข้อมูลและข้อกฎหมายให้ถูกต้องตรงกัน ป้องกันข้อโต้แย้งจากเอกชนในภายหลัง

ซึ่งยอมรับว่า ความยุ่งยากในการขออนุมัติหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ลงทุนไปสนใจลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอื่นๆ มากกว่า

…………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img