โดนเข้าจนได้ แต่ดูเหมือนฝ่าย แกนนำม็อบสามนิ้ว และทนายความ กลุ่มคณะราษฏร 63 ก็คงคาดการไว้อยู่แล้วว่าต้องมีแบบนี้
กับการที่เมื่อวันศุกร์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดกรณี นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่รู้กันดีว่าเป็นอดีตคนของพรรคพลังประชารัฐ เดินทางไปยังศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้พิจารณากรณีที่ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ”์ แกนนำกลุ่มม็อบคณะราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หลังศาลอาญาให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่ถึง 24 ชั่วโมง ที่มีเนื้อหาซึ่งนายสนธิญา รวมถึงคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ก็สงสัยว่า สิ่งที่ เพนกวิน แกนนำม็อบสามนิ้ว โพสต์ไว้ เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลอาญากำหนดไว้หรือไม่ ทั้งที่เพนกวินกับทนายความ ก็รับทราบและทำข้อตกลงกับศาลอาญาไว้ ในการที่จะ…
“ห้ามมิให้จำเลยทำกิจกรรมหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย”์
ทั้งนี้ การยื่นหนังสือดังกล่าว นายสนธิญาขอให้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา พิจารณาใน 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ การตรวจสอบว่าเฟซบุ๊กที่มีการเผยแพร่ข้อความลักษณะดังกล่าวเป็นของนายพริษฐ์หรือไม่ และ ประเด็นที่สอง เนื้อหาข้อความเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลหรือไม่
เพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาใช้ดุลยพินิจเพื่อดำเนินการต่อไป
ซึ่งจนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการยื่นหนังสือดังกล่าว ก็ยังไม่มีท่าทีหรือข่าวความเคลื่อนไหวใดๆ ออกมาว่า ทางอธิบดีศาลอาญาเห็นควรหรือมีท่าทีอย่างไร ที่คงต้องรอดูเมื่อถึงช่วงวันทำงานปกติ สัปดาห์นี้ ว่าทางศาลอาญา จะมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร
ทั้งนี้ เพนกวินได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญาเมื่อ 11 พ.ค. พร้อมกับ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ โดยในส่วนของเพนกวิน พบว่า ทนายความและมารดา ได้ร่วมกันยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อทั้งศาลอาญาและต่อศาลอุทธรณ์ รวมกันถึง 10 ครั้ง จนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมา หลังอยู่ในเรือนจำร่วมสามเดือน ตั้งแต่มี.ค.64
และต่อมา 12 พ.ค.หลังได้รับการประกันตัว เพนกวินได้โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “สาส์นแรกแห่งอิสรภาพ” โดยเนื้อหาที่น่าจะนำมาสู่การยื่นเรื่องให้ศาลอาญาพิจารณาที่ถูกมองว่า พาดพิงหรือมีเนื้อหาไปถึงสถาบันฯ ไล่เรียงแต่ละบรรทัดดูแล้ว ก็น่าจะเป็นโพสต์ตรงข้อความที่ ขอยกมาบางช่วง ดังนี้
“ในส่วนของเงื่อนไข ผมเห็นว่าไม่ได้ขัดข้องอะไรต่อการเคลื่อนไหว เพราะเงื่อนไขข้อที่ว่าห้ามมิให้สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์นั้น ผมก็ไม่เห็นว่าผมจะสร้างความเสื่อมเสียอะไรให้สถาบันกษัตริย์ เพราะผมไม่คิดว่าสถาบันกษัตริย์จะเสื่อมเสียลงเพียงเพราะการที่ประชาชนพูดความจริง เช่นเดียวกับเรื่องการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ทวงคืนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (เช่น หุ้น SCB) ยกเลิกกองกำลังส่วนพระองค์ เหล่านี้ผมไม่เห็นว่าจะสร้างความเสื่อมเสียให้สถาบันกษัตริย์ได้อย่างไร หากจะมองว่าการเรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องเสื่อมเสีย ก็คงจะต้องถามกันต่อว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขหรือปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กันแน่ ดังนั้นแล้ว สำหรับผม การต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะดำเนินต่อไป”
มองในอีกทางหนึ่ง ไม่แน่…ฝ่ายทนายความรวมถึง แม้แต่แกนนำม็อบสามนิ้ว โดยเฉพาะแกนนำระดับหัวแถว ที่ตอนนี้ได้รับการปล่อยตัวแล้วอย่าง “เพนกวิน” และ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” อาจต้องการให้ อธิบดีศาลอาญา นำหนังสือดังกล่าว ไปพิจารณากับผู้บริหารของศาลอาญาก็ได้
เพราะในแง่หนึ่ง มันก็จะได้ทำให้เกิดความชัดเจน เป็น “บรรทัดฐาน” ของศาลอาญาได้ว่า มีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร ว่า “การห้ามแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ก็คือโซเชียลมีเดีย ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” ทางศาลอาญามีมาตรฐาน-ดุลยพินิจในการพิจารณาอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องลักษณะเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งการให้ปล่อยตัว-ประกันตัว ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก หลายคดีศาลก็ไม่ให้ประกัน
อีกทั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่เช่นกัน ที่ศาลกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวแล้วให้จำเลย ทำข้อตกลง กับศาลในการห้ามแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ก็คือโซเชียลมีเดีย ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นเรื่องของยุคสมัยในปัจจุบัน เพราะในอดีตไม่มีเงื่อนไขลักษณะดังกล่าว เพราะสื่อโซเชียลมีเดียยังไม่เกิดขึ้นและไม่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน
ถึงได้อ่านสถานการณ์ไว้ตอนต้นว่า ไม่แน่เช่นกัน ที่ฝ่ายแกนนำม็อบสามนิ้วและทนายความ ก็อาจอยากรู้ว่า ศาลอาญาจะมีบรรทัดฐาน-หลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไรว่า ข้อความในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะแบบไหน ที่ศาลเห็นว่า “เข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาลในคดี 112”
โดยหากศาลมีการนำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปพิจารณาแล้วเรียก เพนกวิน หรือ ทนายความ ไปสอบถาม โดยมีการนำข้อความที่เพนกวินแสดงความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กไปพิจารณาด้วย จนศาลอาญาชี้ว่า ข้อความดังกล่าว ไม่เข้าข่ายการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว หรือชี้ว่า เข้าข่ายการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว มันก็จะได้ “ชัดเจนกันไปเลย”
เพราะหากศาลบอกว่าไม่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขการประกันตัว มันก็ทำให้ แกนนำม็อบสามนิ้ว จะได้รู้แล้วว่า บรรทัดฐานของศาลอยู่ตรงไหน-ขอบเขตการแสดงความคิดเห็นของจำเลยมีอยู่แค่ไหน จะได้ไม่ล้ำเส้น มันก็ทำให้ แกนนำกลุ่มสามนิ้ว สามารถขยับหรือเคลื่อนไหว แสดงความเห็นในเรื่องนี้ออกมาได้อีก แต่ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เพื่อไม่ให้ความเห็นนั้น “ทะลุเพดาน” จนถูก “เสี่ยงถอนประกัน”
แต่กลับกัน หากศาลอาญาชี้ออกมาว่า ข้อความตามที่เพนกวินโพสต์ไว้ข้างต้น อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว ตรงนี้…แกนนำอย่างเพนกวิน รวมถึงทนายความ ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะตามมา โดยเฉพาะ “ความเสี่ยง” ที่อาจจะเกิดขึ้น หากศาลอาญาเห็นมาในแนวทางนี้ ที่ขั้นแรก ก็ยังอาจเป็นแค่การตักเตือนเพนกวิน หรือกำชับทนายความให้คอยดูแลเพนกวินให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเตือนกันไว้ก่อน
หรือไม่ก็อาจ ออกมาอีกทางเลยคือ ศาลอาญาไม่ได้มีท่าทีใดๆ ต่อหนังสือที่นายสนธิญา สวัสดี ไปยื่น เพราะต้องไม่ลืมว่า กระบวนการทางคดีของเพนกวินและแกนนำม็อบสามนิ้ว มาถึงศาลอาญาแล้ว หากไม่ใช่ฝ่ายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่าง “ตำรวจ-อัยการ” ในฐานะฝ่ายโจทก์มายื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็อาจไม่รับเรื่องไว้จนนำมาพิจารณาให้เป็นประเด็น เพราะนายสนธิญา ไม่ใช่ผู้อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี แต่หากฝ่ายพนักงานสอบสวน-อัยการ มายื่นคำร้องเอง น้ำหนักถึงจะมีมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ ก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน ที่การยื่นเรื่องดังกล่าว สุดท้าย…อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามมาก็ได้
ต้องไม่ลืมว่า ตอนวันไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินเมื่อ 11 พ.ค. ทางอัยการได้มีการถามค้าน เพนกวินและทนายความ กลางห้องพิจารณาคดีว่า “การที่จำเลยยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวว่า จะไม่กระทำการใดๆ เป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หมายรวมถึงในพื้นที่โซเชียลด้วยใช่หรือไม่” ซึ่งวันดังกล่าว เพนกวิน ตอบว่า “ผมไม่เคยใช้โซเชียลมีเดียทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียเลย”
ซึ่งคนส่วนใหญ่ ที่ติดตามการแสดงความเห็นของเพนกวิน ทางพื้นที่โซเชียลมีเดียต่างๆ ของเพนกวิน ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เพนกวินมีการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย ที่โยงไปถึงสถาบันฯหลายครั้ง และวันดังกล่าว อัยการก็ได้ถามค้านในประเด็นนี้ดักไว้แล้ว แต่ศาลอาญาก็ปล่อยตัวชั่วคราวออกมา
จุดนี้…น่าจะทำให้พออ่านทิศทางของศาลอาญา ได้ระดับหนึ่ง ว่ามีขอบเขตในการพิจารณาเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดีย อย่างไร???
เพราะคนก็วิเคราะห์กันว่า ทางศาลเอง ก็คงมีการไปตรวจดูการใช้โซเชียลมีเดียของเพนกวิน ย้อนหลังอยู่แล้ว ก่อนหน้าจะให้การประกันตัว และเชื่อว่า หลังจากศาลปล่อยตัวเพนกวินออกมาแล้ว ทางศาลเอง น่าจะมีการ “มอนิเตอร์” ติดตามการใช้โซเชียลมีเดียของเพนกวินอยู่แล้ว ว่ามีการแสดงความเห็นในเรื่องสถาบันฯ ที่สุ่มเสี่ยง “ล้ำเส้น-ทะลุเพดาน” จนเกินเงื่อนไขการปล่อยตัวฯหรือไม่ คงไม่รอให้ตำรวจ-อัยการ หรือใครต่อใครอย่างนายสนธิญา มาคอยร้องต่อศาลอาญา ศาลคงมีการทำงานเชิงรุกอยู่บ้าง
ที่ก็ไม่ใช่แค่เพนกวินคนเดียว แต่ทั้งตำรวจ-อัยการ-ศาล ก็คงมีการติดตาม-มอนิเตอร์ การเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็น ทางพื้นที่โซเชียลมีเดียของแกนนำม็อบสามนิ้วเกือบทั้งหมด ที่ได้รับการประกันตัว
ไม่ว่าจะเป็น สมยศ พฤกษาเกษมสุข-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน”-ปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” หัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่-น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้ พะเยา”-พรหมศร วีระธรรมจารี แกนนำกลุ่มราษฎรมูเตลู-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่”-“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพราะทั้งหมด ล้วนได้รับการปล่อยตัว ด้วยเงื่อนไขที่ตกลงกับศาลที่คล้ายคลึงกันหมด คือจะไม่กระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์-ไม่เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน-จะเดินทางมาศาลทุกครั้งตามที่ศาลได้นัด-ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์
เพียงแต่มีบางคนที่ศาล กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัว ที่เพิ่มเติมและเข้มขึ้นมามากกว่าคนอื่นเช่น เพนกวินและแอมมี่ ที่ศาลอาญากำหนดเงื่อนไขไม่ให้ “เข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ขึ้นได้ในบ้านเมือง” ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว แกนนำหลายคน ไม่ได้ถูกศาลกำหนดเอาไว้
จากเงื่อนไขการปล่อยตัวที่ แกนนำ-แนวร่วมสามนิ้ว แต่ละคนได้ทำไว้กับศาล จนได้รับการปล่อยตัว จึงเปรียบเสมือน “ชนัก” ที่ทำให้ แกนนำแต่ละคน ก็ไม่สามารถขยับได้เต็มที่แบบก่อนหน้านี้ เพราะหลายคน ไม่อยากเสี่ยงตกเป็นเป้ายื่นถอนประกัน ซึ่งอย่าว่าแต่ความเป็นไปได้ในการออกไปร่วมม็อบในอนาคตเลย ลำพังแค่การแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง ก็เห็นได้ชัด แกนนำหลายคน หลังถูกปล่อยตัว ต่างลดความร้อนแรงในเรื่องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง มาตรา 112-ปฏิรูปสถาบันฯ ลงไปเยอะ
ที่ก็ไม่แปลก เพราะคงไม่มีอยากกลับเข้าคุกอีกครั้ง เพียงเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลสั่งไว้ เพราะหากถูกถอนประกัน จนต้องกลับเข้าเรือนจำไปอีก ไม่แน่…รอบหน้า เข้าไปแล้ว อาจติดยาว เพราะศาลอาจไม่ให้ประกันอีกแล้ว ก็เป็นได้
……………………………………………..
คอลัมน์ : ส่องป้อมค่ายการเมือง
โดย “พระจันทร์เสี้ยว”