“พูนพงษ์” เผยตลาดโลกบังคับใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมในตลาดแผงวงจรพิมพ์ แนะผปู้ประกอบการไทยปรับตัวรองรับเศรษฐกิจสีเขียวรักษาขีดความสามารถการแข่งขันของไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยความเข้มข้นของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น นำไปสู่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะบังคับใช้ครอบคลุมไปทุกจุดของห่วงโซ่อุปทาน
ดังนั้นผู้ประกอบการแผงวงจรพิมพ์ไทยควรให้ความสำคัญกับการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรการเหล่านี้ เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักของ ESG ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญของโลกในยุคนี้ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัท และสร้างโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายซัพพลายเออร์ของบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลและการให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์ในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับแผงวงจรพิมพ์ถือเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของอุปกรณ์ไฟฟ้า จากข้อมูลของ Precedence Research ผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 66 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ทั่วโลกมีมูลค่า 86.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ร้อยละ 5.8 ต่อปี จนมีมูลค่า 152.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 76
นอกจากนี้เห็นว่า อุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแผงวงจรพิมพ์ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆ ในยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับ
ส่วนแบ่งตลาดแผงวงจรพิมพ์โลกแบ่งตามภูมิภาค พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก มีสัดส่วนร้อยละ 47.14 รองลงมา อเมริกาเหนือ สัดส่วนร้อยละ 27.14 และ ยุโรป สัดส่วนร้อยละ 18.2
ขณะที่ด้านการผลิตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งผลิตหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนแผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดในโลก โดยมีผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ไต้หวัน ถือเป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์อันดับหนึ่งของโลกมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและกำลังการผลิตมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในปี 66 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกแผงวงจรพิมพ์ของไทย อยู่ที่ 9.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 4.3 จากปี 65 (9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยส่งออกไปที่ ฮ่องกง มากที่สุด เป็นมูลค่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไทยนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในประเทศจาก ไต้หวัน มากที่สุด เป็นมูลค่า 7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (TPCA) พบว่า ในปี 66 ประเทศไทยมีการผลิตแผงวงจรพิมพ์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.8 ของกำลังการผลิตรวมของโลก และคาดการณ์ว่า สัดส่วนจะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2025 จากการลงทุนของผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์ระดับโลก
โดยไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความพร้อมในหลายด้าน อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ต้นทุนการผลิตที่ต่ำและค่าแรงที่ไม่สูงมาก แรงงานในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมทั้งการคมนาคมและโทรคมนาคม
ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำมากกว่า 20 บริษัท ได้ประกาศแผนการลงทุนการผลิตในเมืองไทย โดยสาเหตุหลักของการย้ายฐานการผลิตมาจากประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของโลก ทำให้กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม กระแสการย้ายฐานการผลิตแผงวงจรพิมพ์มาที่อาเซียน ไม่ได้นำพาแค่โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย ในการเข้าเป็นซัพพลายเออร์ให้กับบริษัทผู้ผลิตระดับโลก แต่ยังมาพร้อมกับการบังคับใช้ข้อกำหนดและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นความท้าทายใหม่ของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เนื่องจากกระแสสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในฝั่งผู้บริโภค เช่น การแยกขยะและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสีเขียวต่าง ๆ แต่ยังขยายวงกว้างไปสู่ภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งเห็นได้จากมูลค่าหุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักของ ESG ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก
โดย Bloomberg สำนักข่าวด้านการเงินชั้นนำของโลก คาดการณ์ว่ามูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท ESG ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จะพุ่งสูงถึง 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 69 นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่ในนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ในปี 93 อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศออกมาตรการบังคับให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจัดทำรายงานการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (ESG Report) เป็นประจำทุกปี
รวมถึงประเทศไทยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องนำส่ง แบบ 56-1 One Report ต่อ ก.ล.ต. ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนโยบายด้านความยั่งยืน กำลังกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายทางธุรกิจที่บริษัทจะต้องทำให้สำเร็จผลควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรสูงสุด
ซึ่งส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เช่น Apple, Microsoft และ NVIDIA ได้ออกข้อบังคับสำหรับการตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลดการใช้พลังงานในการผลิตที่จะบังคับใช้กับทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องในทุกจุดของขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในช่วงปี 68– 73บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถทำตามหลักของ ESG และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จะโดนตัดออกจากเครือข่ายซัพพลายเออร์ของบริษัทไต้หวัน ซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญของอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ไทย อีกทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์แผงวงจรพิมพ์รายใหญ่ให้กับบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ เช่น Apple และ NVIDIA มีความตื่นตัว ในการตอบสนองต่อมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอย่างมาก
โดยภาครัฐได้ออกมาตรการในช่วงต้นปีนี้ ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องส่งรายงาน ESG Report ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ในขณะที่ภาคเอกชน อาทิ บริษัท APEX ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงวงจรพิมพ์สัญชาติไต้หวัน
ที่ตั้งฐานผลิตในไทยมากว่า 3 ทศวรรษ ได้ดำเนินการพัฒนาธุรกิจตามแนวทาง ESG ตั้งแต่ปี 2021
เพื่อตอบสนองต่อข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทคู่ค้า อาทิ การใช้พลังงานยั่งยืน (Renewable Energy) และการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ
ซึ่งในปี 64 APEXประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 2 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จากการพัฒนาและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิต 5.1 เมกะวัตต์ (MWp) ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่อปีไปได้มากกว่า 3,700 ตัน อีกทั้งยังสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตได้ร้อยละ 11 ส่งผลให้ประหยัดปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ไปได้ถึง 14,904 MWp ต่อปี