วันศุกร์, มกราคม 3, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พท.’ยึดเก้าอี้‘ปธ.แบงก์ชาติ ’ ส่อสะดุด!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พท.’ยึดเก้าอี้‘ปธ.แบงก์ชาติ ’ ส่อสะดุด!

พลันที่ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” โยนชื่อ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกฯและอดีตรมว.คลัง ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และประธานที่ปรึกษาอดีตนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” มานั่งในตำแหน่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทน “ปรเมธี วิมลศิริ” ซึ่งสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ออกมา ได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที

เป็นที่รู้กันว่า “พรรคเพื่อไทย” กับ “แบงก์ชาติ” ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยเป็น “คู่ขัดแย้งทางความคิด” ในเรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจ” มาตลอด ฝ่ายการเมืองจึงพยายามจะเข้ามาแทรกแซง-ครอบงำ เช่นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เคยส่ง “ดร.โกร่ง-วีระพงษ์ รามางกูร” ประธานที่ปรึกษานายกฯยิ่งลักษณ์ มานั่งตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แต่ก็แค่ช่วงสั้นๆ เมื่อหมดวาระ ก็ตั้ง “ดร.กบ-อำพน กิตติอำพน” เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ (ในขณะนั้น) เข้าดำรงตำแหน่งแทน

แม้ “ดร.โกร่ง” จะวิพากษ์แนวคิดของแบงก์ชาติแบบเผ็ดร้อนมาตลอด ตั้งแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ด้วยบารมีบุคลิกน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถ ฐานะนักเศรษฐศาสตร์อันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้ง “ดร.โกร่ง” และ “ดร.กบ” จึงไม่มีกระแสคัดค้าน ต่างจาก “กิตติรัตน์” ที่ถูกคัดค้านอย่างหนักถึงความไม่เหมาะสม อาจเป็นเพราะบทบาท “หัวหมู่ทะลวงฟัน” แสดงความคิดเห็น ทั้งเรื่องการลดดอกเบี้ย-ค่าเงิน รวมถึงเรื่องดิจิทัล วอลเล็ต สวนทางกับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมาตลอด

“ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เป็น “คนแรกที่เปิดหน้าชก” คัดค้านการเข้ามาแทรกแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมือง โดย ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “ผู้ที่ทำหน้าที่สรรหา” ด้วยภาษาที่เผ็ดร้อนว่า “ขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธาน ธปท.เท่านั้น ที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย”

พร้อมกับเปิดโปงเบื้องหลังว่า วัตถุประสงค์เพื่อจะใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

“หากธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศ ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจย่อมตามมาอย่างแน่นอน”

หลายคนๆ ก็เป็นห่วงคล้ายๆ กับ “ธาริษา” ห่วงว่า หากคนที่มาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติมาจากฟากการเมือง อาจมีความเห็นพ้องกับรัฐบาล และสนองนโยบายตามที่รัฐบาลต้องการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน เรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดูแลค่าเงินบาท อีกทั้งกังวลว่า ฝ่ายการเมืองจะเอาเงินสำรองระหว่างประเทศ มาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพราะแนวคิดนี้มีมาตั้งแต่ “ไทยรักไทย” จนมาถึง “เพื่อไทย” ซึ่ง “แบงก์ชาติ” คัดค้านเกรงว่า การบริหารไม้โปร่งใส

ขณะที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายแบงก์ชาติ ไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีอำนาจมาครอบงำมากจนเกินไป จนทำให้ความเป็นอิสระ ในฐานะธนาคารกลางเสียไป จึงมีกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา จะต้องไม่เป็นข้าราชการในปัจจุบัน

เศรษฐกิจโลก / cr : ธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่าลืมว่า ความเป็นอิสระของนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่สําคัญอย่างมาก ถ้าตลาดไม่เชื่อมั่นในความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ ตลาดจะปั่นป่วนผันผวน และไม่เชื่อใจ ส่งผลให้ประเทศสูญเสียความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงการแข่งขันในเวทีโลก อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออกซึ่งจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้

แต่เริ่มมีสัญญาณเตือนการกระทำของฝ่ายการเมืองบ้างแล้ว จะเห็นได้จากการสรรหาที่ดำเนินงานมากว่า 2 เดือน ยังไปไม่ถึงไหน ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ยังหาข้อสรุปไม่ได้ กระแสข่าววงในระบุว่า มีการตั้งป้อมสู้กัน ระหว่าง “กระทรวงการคลัง” ที่เป็นตัวแทนรัฐบาล กับฝั่งของ “แบงก์ชาติ” จนต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายนนี้ 

อีกทั้งเมื่อพลิกกฏระเบียบดู ปรากฏว่าได้กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เอาไว้ 8 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ (4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เรื่องนี้ ต้องตรวจสอบให้รอบคอบว่า ในฐานะ “ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)” ที่ “กิตติรัตน์” เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามระเบียบดังกล่าว (4) หรือไม่

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ “อดีตนายกฯเศรษฐา” เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกฯในช่วงนั้นที่มีกระแสข่าวว่า “กิตติรัตน์” จะไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติว่า “นายกิตติรัตน์เป็นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามความเข้าใจของตนเอง ถ้าจะมาเป็นตำแหน่งนี้ (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) ก็ต้องออกจากทุกตำแหน่งมาระยะเวลา 1 ปี”

ตรงนี้กลายเป็น “บ่วงมัด” ที่จะทำให้ “เกมพลิก” คงต้องดูว่า รัฐบาลจะหยุดแค่นี้ หรือจะดันทุรังเดินหน้าต่อไป ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด

……….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…..“ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img