วันอังคาร, พฤศจิกายน 5, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightสรรหา“ประธานบอร์ดธปท.”ส่อเค้าวุ่น หลังโยง“3 แคนดิเดต”เอี่ยวการเมือง!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สรรหา“ประธานบอร์ดธปท.”ส่อเค้าวุ่น หลังโยง“3 แคนดิเดต”เอี่ยวการเมือง!

สรรหาประธานบอร์ดธปท.ยืดเยื้อ หลังฝ่ายเลขานุการประธานบอร์ดสรรหายังไม่ได้ยืนยันการประชุม ชี้อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติภายใน 120 วัน ระบุ 3 แคนดิเดตเชื่อมโยงการเมือง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ความคืบหน้าการสรรหาประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่แทนดร.ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลงในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ รอบใหม่ จากเดิมได้มีการกำหนดไว้ในวันที่ 4 พ.ย.2567 แต่ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไปเพราะฝ่ายเลขานุการของบอร์ดสรรหายังไม่ได้ยืนยันการประชุม โดยระบุว่ายังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติโดยมีกรอบระยะเวลาทำงานภายใน 120 วัน โดยสามารถรักษาการไปจนถึงวันที่ 16 ม.ค.68

สำหรับประเด็นสำคัญคือกการพิจารณษคุณสมบัติตามข้อกฎหมาย ที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยปี 51

ส่วนรายละเอียดที่มีการถกเถียงกันของกรรมการในครั้งที่ผ่านมามีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือเรื่องของการถูกฟ้องร้องคดีความของผู้สมัคร รวมทั้งคดีที่อยู่ในมือขององค์กรอิสระ ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กฎหมายกำหนดว่า ต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

สำหรับประเด็นแรกเรื่องของคดีความนั้น กรรมการฯ เห็นค่อนข้างตรงกันว่าในข้อกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

โดยเมื่อยึดตามข้อกฎหมายนี้ประเด็นที่เคยมีผู้ให้ความเห็นว่านายกิตติรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกได้ปล่อยปะละเลยให้มีการการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ให้กับองค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 3 แสนตัน หรือ คดีข้าวบูล็อคซึ่งต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง แต่ ป.ป.ช.ได้มีการส่งเรื่องขออุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการอัยการสูงสุด (อสส.) ให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อให้มีการฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่

สำหรับขั้นตอนนี้ต้องรอ อสส.พิจารณาว่าจะยื่นไปตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอหรือไม่ ซึ่งหากดำเนินการก็จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกพอควร แต่ก็ถือว่าคดีความในเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุดและต้องถือว่า นายกิตติรัตน์ไม่ได้ขาดคุณสมบัติเพราะถือว่าไม่ได้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษา

อีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการมีการถกเถียงกันคือ เรื่องของคุณสมบัติต้องห้าม ในเรื่องที่ประธานบอร์ดต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในประเด็นนี้มีการหยิบยกประเด็นที่นายกิตติรัตน์ เคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมับัติกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะนายกิตติรัตน์ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบทั้งในส่วนของแคนดิเดตทั้ง 3 คน ทีได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และรายชื่อของกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่ออีก 6  รายด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับผู้สมัครทุกราย โดยนอกจากนายกิตติรัตน์จะเคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายกุลิศก็เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน

ทั้งนี้ในเรื่องการเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและตีความกันพอสมควรว่าถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่ง เหมือนกับการได้รับการแต่งตั้งเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ซึ่งตำแหน่งนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งมีได้ 5 คน และทุกคนได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ประเด็นนี้จึงต้องอาศัยการตีความจากฝ่ายกฎหมายว่าการเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะหากเป็นตำแหน่งทางการเมืองก็จะกระทบกับคุณสมบัติของทั้งนายกิตติรัตน์ และนายกุลิศ

ส่วนประเด็นของ ดร.สุรพล นั้นแม้ว่าจะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนแต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาได้ปรากฏว่าไปเป็นพยานปากสำคัญของพรรคก้าวไกลในการต่อสู้คดียุบพรรคที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรธน.ตัดสิทธิ์ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารบางคน

อย่างไรก็ตาม แคนดิเดตประธานบอร์ดทั้ง 3 คนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกคน ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯจึงต้องเคร่งครัดในการยึดข้อกฎหมายเพื่อให้สามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างชัดเจนเมื่อประกาศชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ออกมาให้สาธารณะชนได้ทราบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ข้อกฎหมายได้กำหนดว่าระเบียบด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยปี51 ที่กำหนดว่า

กรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการ ธปท. แล้วแต่กรณี ให้ประธานกรรมการคัดเลือกแจ้งให้ผู้ว่าการและปลัดกระทรวงการคลัง เสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ต่อคณะกรรมการคัดเลือก ภายในเวลาที่ประธานกรรมการคัดเลือกกำหนด โดยให้ผู้ว่าการเสนอเป็นจำนวนไม่เกินสองเท่าและปลัดกระทรวงการคลังเสนอเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้งตามสำคัญ

โดยกำหนดให้บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำเเหน่งในคณะกรรมการ ธปท. ได้แก่ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมาย ด้านบัญชีหรือด้านอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการของ ธปท.

ขณะที่คุณสมบัติ ต้องห้าม ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไว้ 8 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  3. เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  4. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
  5. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของ พรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
  6. เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรง ตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
  7. เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสีย อย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคล ซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท. ดังเช่น

(ก) นิติบุคคลที่เข้าเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ หรือกำลังจะเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ กับ ธปท. อันมีลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท.

(ข) นิติบุคคลที่อยู่ภายได้การกำกับหรือตรวจสอบของ ธปท. เว้นแต่เป็น การดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ

และ 8.เป็นคู่สัญญาหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการของ ธปท.อันมี ลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท. โดยให้ใช้บังคับกับคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อด้วย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

“หนี้ครัวเรือนไทย” ทำไมแก้ยาก!!

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img