วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘จุลพันธ์’รับลูกสว.อุดช่องโหว่‘แชร์ลูกโซ่’ ลุยฟัน 18 บอสเลี่ยงภาษีลั่นไม่มีมวยล้ม!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘จุลพันธ์’รับลูกสว.อุดช่องโหว่‘แชร์ลูกโซ่’ ลุยฟัน 18 บอสเลี่ยงภาษีลั่นไม่มีมวยล้ม!

“สว.” จี้รัฐแก้ปัญหาแชร์ลูกโช่ หวั่น “ดิไอคอน” จับบอสแล้วจบ แนะตรวจสอบการโอนคริปโต-เสียภาษี เร่งแก้กม.ล้าสมัย เสนอออก พ.ร.ก.แก้ปัญหา ด้าน “จุลพันธ์” รับลูกเตรียมอุดช่องโหว่ ขยายถึงแม่ข่ายกลาง ล่าง เพิ่มโทษ ไม่ให้คดีหมดอายุความ พร้อมออกพ.ร.ก.คาดใช้เวลา 2-3 เดือนเสร็จ เผย 18 บอส บางคนไม่ยื่นภาษี 3-5 ปี ลั่นไม่มีมวยล้ม เชื่อคลิปเสียงเทวดาถึงมือตำรวจแล้ว

วันที่ 21 ต.ค.2567 เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาของ นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว.เรื่องการแก้ไขปัญหาขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่ที่กระทบกับเศรษฐกิจ ถามด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ว่า แชร์ลูกโซ่มีหลายแชร์ที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นแชร์แม่ชม้อย แชร์ชาเตอร์ เสมาฟ้าคราม นอกจากเจ้าของแชร์ติดคุก คนที่ตายทั้งเป็นมีอีกมากหมาย ล่าสุดคือคดีของ ดิไอคอน กรุ๊ป ซึ่งพฤติกรรมไม่ได้แตกต่างไปจากแชร์สมัยก่อน แต่เนื่องจากกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องแชร์ลูกโซ่ของเราอาจะออกมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ไม่ทันยุคทันสมัยกับยุคปัจจุบัน แม้มีการแก้ว่าให้มีสินค้าขายด้วย แต่ถึงเวลาก็ไม่มีสินค้า หรือมี ก็ไม่มีคุณภาพ มีแล้วขายไม่ได้ คนขายไม่ได้ตั้งใจจะขาย แต่จะเอาดาวน์ไลน์มาแทน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ว่าบอสทั้งหลายโดนจับไปแล้วจะจบ เพราะยังมีอีกหลายต่อหลายบอสในคดีดิไอคอน และคดีอื่นๆที่ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เกิดจากประเทศไทยอยู่ในบ่วงโซ่ความโลภ โกรธ หลง ทำให้คนเป็นเหยื่อ ผมก็เคยเป็นอยากรวย อยากมีเงิน โดยไม่ต้องทำงาน หรือทำงานน้อยๆ ได้ตังค์เยอะๆ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่อยาก เมื่อมีคนมาเล่าเรื่องที่น่าถือถือว่า เช่น พิธีกรดังๆ เซเลบดังๆ หรือบอส คนเหล่านี้สามารถรวบรวมคนได้เป็นหมื่นคน ซึ่งปัจจุบันเท่าที่คาดการณ์ไว้ไม่น่าจะต่ำว่าหมื่นคนขึ้นไป หรืออาจจะเกินกว่านั้นแล้ว และแชร์ลูกโซ่มีพฤติกรรมใช้สื่อออนไลน์ รัฐก็ต้องดูแลด้วย เพราะการทำออนไลน์สามารถทวีคูณปัญหาได้อย่างมากมาย และเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

นาวาตรี วุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของคดีล่าสุดที่เกิดขึ้น ยังมีเรื่องของการใช้เงินนอกระบบ หรือเงินที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมไทย คือการโอนไปต่างประเทศสามารถโอนได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งในคดี ดิไอคอน มีคนตรวจสอบแล้วพบว่ามีการโอนไป 8 พันล้านบาท ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ซึ่งจริงเท็จอย่างไรรัฐมนตรีสามารถตรวจสอบการโอนย้านเหล่านี้ได้ ซึ่งการทำอาชญากรรมออนไลน์เหล่านี้ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะยังมีคนถามว่าเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ในเรื่องของแชร์ลูกโซ่ แต่ผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ซึ่งประชาชนย่อมอยากรู้ว่าผิดหรือไม่ แต่การทำงานของรัฐบาลไม่ทันหรือไม่ ถ้ากฎหมายไม่มี ตนขอแนะนำให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) มาดำเนินการเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน และไม่ต้องกังวลทั้งสส.และสว.ก็ใช้ความร่วมมือ เพราะทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้จำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยด้วย

นาวาตรี วุฒิพงศ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีคนร้องเรียนตั้งแต่ปี 62 แล้ว มีการแจ้งดำเนินคดี แต่คดีก็หายไป ไม่รู้ว่าเทวดาที่ไหนยับยั้งเอาไว้ ตนคิดว่าเทวดาก็สำคัญ ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้ถึงขนาดนี้ และกรมสรรพากรก็แจ้งมาว่า บอส หลายคนไม่ได้เสียภาษีตามที่ควรจะเป็น หรืออาจจะไม่มีการเสียภาษีเลยก็ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ รมช.คลัง ไปติดตามด้วย รวมถึงรถหรู ที่เป็นการล่อลวงประชาชน ขนาดพระบางรูปไปเทศนาเชิงนิยมชมชื่นด้วย ซึ่งตนเห็นว่าเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ ที่สำคัญคือวันนี้เป็นกิจของรัฐบาลของสส.และสว.ที่ต้องตามติดเรื่องเหล่านี้ว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกินขึ้นต่อไป ถ้าเราไม่แก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำ และของให้รมช.คลังรับปากว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นมวยล้มต้มคนดู ต้องทำจริงจัง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะคนที่อยู่ในข่ายไม่ใช่แค่ดิไอคอนเท่านั้น ยังมีอีกหลายแชร์ลูกโซ่ หากรัฐบาลยังนิ่งนอนใจอยู่คิดว่าไปเรื่อยๆ ตามระบบปกติโดยไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษมาจัดการ คดีดิไอคอน ก็คงจะจบเหมือนกับคดีที่ผ่านมาในอดีต ที่ผู้เกี่ยวข้องในคดีออกมาเสวยสุขกันหมดแล้ว

“ของบางอย่างที่ต้องการความรวดเร็วสามารถเสนอเป็นพ.ร.ก.ได้ ในขณะที่ถ้าเป็น พ.ร.บ. ต้องเสนอตามขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลาไม่น่าต่ำกว่า 5-6 เดือน ดังนั้นสิ่งที่จะทำแทนประชาชนได้คือการออก พ.ร.ก. เพื่อใช้แก้ไขปัญหาถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงรายละเอียด รัฐบาลต้องใช้เครื่องมือเพื่อให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงทีเพื่อหยุดเลือดไม่ให้ไหลออกจากประเทศไปมากกว่านี้ ซึ่งเลือดคือเงินตราในสกุลต่างๆ ที่สามารถแลกเปลี่ยนจากเงินบาทไปเป็นเงินคริปโตที่มีการโอนออกไป และฝากรัฐมนตรี ช่วยตรากฎหมายที่จะทำให้กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างแท้จริง”นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าว

ด้านนายจุลพันธ์ กล่าวชี้แจงว่า ทางคณะรัฐมนตรี(ครม.)โดยนายกฯ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างมาก และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ไปดำเนินการเรื่องคดีความ กระทรวงยุติธรรม ดูเรื่องขั้นตอนต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ดูเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค และกระทรวงการคลัง ดูเเรื่องการปรับแก้ขั้นตอนกฎหมายต่างๆ ที่มีความจำเป็น ซึ่งในคดีดิไอคอนนั้น ในฝ่ายปฏิบัติได้ดำเนินการค่อนข้างรวดเร็วและจับกุมตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง 18 คน อายัดทรัพย์ไปจำนวนมาก รวมถึงทรัพย์สินอีกจำนวนมาก ทั้งหมดอยู่ในข่ายที่ สตช.จะดำเนินการต่อไป ทั้งอสังหาริมทรัพย์ บัญชีต่างๆ รวมถึงทรัพย์สินทางออนไลน์ คือสิ่งที่นำมาโชว์ในวาระต่างๆว่ามีการถือครองอยู่ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการนำทรัพย์สินเหล่านั้นมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.หลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรง 2545 ,พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี 2527 หรือ พ.ร.บ.แม่ชม้อย ,พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ,ประมวลกฎหมายอาญาปี 2499 ,พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2560 , พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปี 2542 ซึ่งจะเห็นได้ว่ากฎหมายหลายฉบับถึงวาระที่เราต้องมาพิจารณาทบทวน

“กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางนโยบาย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เป็นผู้ที่ยกร่างกฏหมายหลายฉบับในอดีต แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาเมื่อยกร่างแล้วออกเป็นพระราชกำหนด ไม่มีผู้ที่ดูแลอย่างชัดเจน สุดท้ายก็มอบหมายให้ผู้ที่รักษาการตามกฎหมาย คือ รมว.คลัง และรมว.มหาดไทย ดูแลจนถึงปัจจุบัน และกลไกที่ผ่านมาก็จะต้องรอให้มีผู้ร้องและ สศค. จะรวบรวมเพื่อนำไปดำเนินคดีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า สศค.ไม่ได้เป็นหน่วยงานแรกที่ประชาชนจะนึกถึงในการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ก็จะไป สตช.และดีเอสไอ เป็นหลัก เบื้องต้นได้มีการหารือถึงตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าถึงวาระแล้วหรือยังว่าจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.ก.ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2527 ในหลายๆ ประเด็น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่าง ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด และกลไกต้องให้เป็นไปตามขั้นตอน สุดท้ายต้องเข้ามาสู่กระบวนการตรวจร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าครม.แล้วประกาศใช้ จากนั้นถึงจะเข้าสู่สภาฯและวุฒิสภา เพื่ออนุมัติต่อไป เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ก็จะดำเนินการแล้วเสร็จ เพราะเรื่องนี้ถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน”นายจุลพันธ์ กล่าว

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า ประเด็นหลักที่มีการตั้งโจทย์ไว้ ในการแก้ไข พ.ร.บ.ปี 2527 ประเด็นแรก คือเรื่องของบทบัญญัติโดยให้หน่วยงานที่สามารถเอาผิดไปถึงแม่ข่ายได้ ซึ่งกฎหมายที่ใช้อยู่ยังมีช่องโหว่ ไม่สามารถเข้าผิดแม่ข่ายถึงระดับกลาง ระดับล่างได้ จึงต้องมีการแก้ไขและต้องมีการเพิ่มโทษ ที่บางส่วนยังไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังเป็นหลักแสนบ้าน หลักล้านบาท ขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคม อย่างตัวเลขในกรณีดิไอคอน ณ ปัจจุบัน จำนวน 1.6 พันล้านบาทแล้ว และอาจจะขึ้นไปเรื่อยๆในกรณีที่มีคนเข้ามาแจ้งความคดีเพิ่มเติม รวมถึงต้องปรับแก้เรื่องของอายุความ เมื่อคดีเข้าสู่อายุความแล้วกฎหมายของ ป.ป.ง. ก็ดำเนินการต่อทันทีเกี่ยวกับอายัดทรัพย์ และทรัพย์สินต่างๆ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือเรื่องอายุความ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีก็ทำให้อายุความขาดได้ เราจึงต้องแก้ให้อายุความสามารถสะดุดหยุดลงในกรณีที่ผู้ต้องหาหลบหนี กรณีนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้คดีขาดอายุความเพื่อสามารถดำเนินคดีได้ถึงที่สุด

รมช.คลัง กล่าวต่อว่า เรื่องปรับเปลี่ยนผู้รักษาการตามกฏหมาย เนื่องจาก สศค.เป็นหน่วยงานมีอำนาจในการปฏิบัติ เป็นหน่วยงานในเชิงนโยบาย ซึ่งมองว่ากลไกที่จะมีประโยชน์สูงสุด คือต้องให้ผู้ที่ถือกฎหมายฉบับนี้ เป็นส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม เช่นดีเอสไอ เป็นต้น ที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือกฎหมายเพื่อให้การดำเนินคดีอยู่ในมือผู้ปฏิบัติ และสามารถดำเนินการในรูปแบบวันสต็อปให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้ นอกจากนั้นยังต้องปรับแก้เรื่องของการฟ้องล้มละลาย ซึ่งกลไกปัจจุบัน การฟ้องล้มละลาย กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการส่งผ่านทางสำนักงานอัยการ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนให้เปิดกว้างมากขึ้น อาจจะให้ สตช. เข้ามาดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไปได้ และสุดท้ายคือการปรับแก้ที่สำคัญ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ารูปแบบในการฉ้อโกง และแชร์ต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปมาก และมีรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้นตัวกฎหมายต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทันกับผู้ที่กระทำความผิดในเทคนิคและกลเม็ดใหม่ๆ ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งกฎหมายที่จะปรับแก้ภายใน 2-3 เดือนนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ หวังว่าการแก้ไขที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จะสามารถป้องกันการฉ้อโกงในประเภทต่างๆได้ต่อไป

“เวลาที่ภาครัฐ จะดำเนินการทางด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง โดยมากจะเลือกช่องทาง พ.ร.ก.อยู่แล้ว เพราะกรณีนี้เข้ากรอบของการออกเป็น พ.ร.ก.ค่อนข้างมาก เป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศ มีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งในความคิดของกระทรวงการคลัง ก็จะออกเป็น พ.ร.ก. ส่วนเรื่องภาษี ยืนยันว่า ตรวจสอบบอส 18 คน ย้อนหลังเรียบร้อย โดยมีบางรายไม่ได้ยื่นแบบภาษี ระหว่าง 3 – 5 ปี ซึ่งยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด จะต้องตรวจสอบว่าหลบเลี่ยงอย่างไร ขอว่าไม่ต้องกังวล ยืนยันไม่มีมวยล้ม เราจะดำเนินการให้ถึงที่สุด ส่วนเรื่อง เทวดา ผมเห็นความตั้งใจของนายกฯ ว่าเรามีความจริงจัง เชื่อว่า เมื่อถึงมือตำรวจแล้ว เมื่อไปตรวจคลิปเสียง ก็จะขยายผลดำเนินการต่อไปให้ถึงที่สุด ยืนยันว่า รัฐบาล จะดำเนินการให้ถึงที่สุด นำผู้กระทำความผิดไปดำเนินการให้ครบถ้วน”นายจุลพันธ์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img