SCB EIC ประเมินไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง หลังพบจุดอ่อนทั้งรายได้ต่อหัวต่อหัวต่ำ-หนี้เอกสชนสูง-รัฐขาดดุลการคลังเพิ่ม รวมถึงการเมืองโลกและไทยรุมเร้า ขณะที่ภาคเอกชนมองเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) แจ้งว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากระดับปัจจุบัน BBB+ มุมมอง Stable outlook โดยฟิทช์เรตติ้ง มีมุมมองว่าไทยมีจุดแข็งด้านต่างประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ
แต่จุดอ่อนไทย 3 ด้าน คือ 1.มิติเชิงโครงสร้าง (รายได้ต่อหัวต่ำ โครงสร้างประชากรไม่เอื้อ) 2.มิติเศรษฐกิจมหภาค (หนี้ภาคเอกชนสูง) 3.มิติการคลัง (หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก) ดังนั้นทั้ง 3 เหตุผลหลักที่ไทยอาจถูกลดเครดิตเรตติ้งลง โดยความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐที่วินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นแผนการขาดดุลงบประมาณระยะปานกลางสูงกว่าระดับปกติ (ต่ำกว่า 3% ของ GDP) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก Peers ที่ลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐได้หลังโควิด
นอกจากนี้เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงทางการเมืองรุนแรงของไทยลดลง แต่ประเด็นการเมืองที่ผ่านมาอาจกระทบการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่งฟิทช์เรตติ้งใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติ้ง ขณะเดียวกันแ อัตราการเติบโตและศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ประเมินค่อนข้างมากจากปัญหาเศรษฐกิจฟื้นช้า โตต่ำและปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน
อย่างไรก็ตาม หากไทยถูกหั่นเครดิตเรตติ้งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะภาครัฐอาจมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นจนขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อชำระดอกเบี้ยจ่ายหรือลดเงินลงทุนภาครัฐ ขณะที่ต้นทุนเอกชนก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ไทยถูกมองว่าเสี่ยงโดนปรับเครดิตเรตติ้งอาจมาจากความเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพทั้งที่ควรโต 3.5-4.0% และแม้ความไม่สงบทางการเมืองจะลดลง แต่ฟิทช์ระบุว่าไทยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง ซึ่งอาจกระทบประสิทธิภาพการวางนโยบายเศรษฐกิจ
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 น่าจะโตใกล้เคียง 3% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และเพดานหนี้สาธารณะที่ต่ำลงมาอยู่ที่ 70% แต่หากหลังจากนี้เศรษฐกิจการเมืองโลกและไทยเสี่ยงมากขึ้นอาจมีแรงกดดันต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย
โดยเห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออก โดยเฉพาะการลงทุนตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบการเงินดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกปรับเครดิตเรตติ้งดังนี้
1.การใช้เงินนโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ทำให้เกิดการกระตุกกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ออกไปแล้วรัฐบาลต้องมีมาตรการเสริมอื่นตามที่สภาหอการค้าฯเคยไว้ อาทิ โครงการคูณสองเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจและมาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีโดยที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโดดเด่นและคนไทยจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีภาครัฐดีขึ้นโดยหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง ทั้งยังสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.5-4.0%ในปีหน้า
2.การเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทิศทางระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลควรใช้เวทีรัฐสภากำหนดทิศทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองโดยหากมีความเสี่ยงทางการเมืองขึ้นควรมีจุดเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้นโยบายทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อ
อย่างไรก็ตาม มองว่าหากการเมืองเข้มแข็งและเศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ผสมผสานจะทำให้ความเสี่ยงที่ไทยจะถูกปรับเครดิตเรตติ้งเกิดขึ้นได้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพ โดยแม้ปัจจุบันหนี้สาธารณะหากเทียบกับจีดีพี ของไทยจะสูงกว่าเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และเศรษฐกิจโตต่ำลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่มากพอที่จะทำให้ไทยถูกปรับเครดิตเรตติ้งหากยังประคองการเติบโตใกล้ 3% ในปีหน้า ยกเว้นเกิดความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองจนทำให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ
“เรามองว่าเรตติ้งยังคงประคองได้อยู่เช่นระดับปัจจุบัน แม้จะไม่ปรับขึ้น หากเศรษฐกิจไม่แย่ไปกว่านี้ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะหาแหล่งรายได้มากขึ้น หลังจากนี้ที่จะทำให้หนี้ต่อจีดีพีลดลงระยะข้างหน้า”