วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“สรวงศ์”เล็งชงเก็บ“ภาษีเหยียบแผ่นดิน” หวังลดภาระงบฯ-ดูแลประกันภัยให้นทท.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สรวงศ์”เล็งชงเก็บ“ภาษีเหยียบแผ่นดิน” หวังลดภาระงบฯ-ดูแลประกันภัยให้นทท.

“สรวงศ์” วางแผนจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวหรือภาษีค่าเหยียบแผ่นดินกลางปี 68 คาดเริ่มทางอากาศก่อน ทางบกและทางน้ำ หวังลดภาระงบประมาณ-ดูแลเยียวยาด้านประกันภัยให้นักท่องเที่ยวกรณีเกิดอุบัติเหตุ

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะผลักดันเรื่องจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว Traveling Tax หรือภาษีค่าเหยียบแผ่นดินเข้าที่ประชุมครม. พิจารณาอีกรอบภายในไตรมาส 1/68 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนนับจาก ครม.มีมติเห็นชอบ หรือในช่วงกลางปี 68 ซึ่งอาจพิจารณาเริ่มจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวทางอากาศก่อน

โดยวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจากกองทุนที่จัดเก็บจากภาษีท่องเที่ยว และวงเงินส่วนหนึ่งจะไว้ใช้เป็นประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกส่วนจะนำไปดูแล ปรับปรุง บูรณะสถานที่ท่องเที่ยว

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า การจัดเก็บภาษีท่องเที่ยว จะมีการจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวผ่านซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน โดยได้เชื่อมระบบการเงินกับกรุงไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตอนนี้วงเงินสำหรับประกันจะอยู่ที่อัตราเดิม คือไม่เกิน 60 บาท จากการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวคนละ 300 บาท

สำหรับขนาดกองทุนว่าจะมีการจัดเก็บเงินเท่าไร สามารถคำนวณจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลย เช่น อัตรา คนละ 300 บาท คูณกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างน้อย 36 ล้านคนต่อปี โดยในปีแรกที่จัดเก็บเงินเข้ากองทุน อาจมีตกหล่นบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นช่วงทดลองระบบ

ทั้งนี้ทางด้านระบบนั้น ต้องเตรียมความพร้อมระบบเอาต์ซอร์ส (Outsource) ให้มีผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการระบบ หลังจากนั้นต้องเปิดประมูลบริษัทประกันที่จะเข้ามาดำเนินการทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยว โดยในกรณีเสียชีวิต วงเงิน 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บ วงเงิน 5 แสนบาท ซึ่งจะเป็นเงินที่ท็อปอัปจากวงเงินประกันนักท่องเที่ยวทำเองอยู่แล้ว ในกรณีขาดเหลือ สามารถเบิกเพิ่มจากกองทุนนี้ได้ โดยประกันที่จัดเก็บจากภาษีนักท่องเที่ยวจะครอบคลุมการเดินทางไม่เกิน 30 วัน เพราะจากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ 87% พำนักในไทยไม่เกิน 30 วันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะอีกอย่างที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม คือเรื่องการกำหนดให้จัดเก็บภาษีท่องเที่ยว 2 อัตราสำหรับทางบกกับทางน้ำและทางอากาศตาม มติ ครม.เดิม แต่สำหรับรัฐบาลชุดนี้ อาจมีการพิจารณาจัดเก็บในอัตราเดียวกันไปเลย เพื่อป้องกันข้อครหาว่าเลือกปฏิบัติไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ถ้าจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวทางอากาศก่อนในเฟส 1 ก็น่าจะดำเนินการได้ เพราะว่ามีปริมาณการเดินทางครอบคลุม 70% ของการเดินทางเข้าไทยทั้งหมด แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเฟส 1 จะเริ่มจัดเมื่อไร และเฟส 2 ที่จะจัดเก็บทางบกกับทางน้ำมีกำหนดเมื่อไร เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ต้องจ่ายภาษีท่องเที่ยวทางอากาศเสียความรู้สึก

ส่วนกลุ่มคนที่ต้องเดินทางค้าขายข้ามชายแดน มองว่าการจัดเก็บภาษีท่องเที่ยวจะไม่กระทบต่อตลาดนี้ เพราะการเดินทางข้ามแดนของกลุ่มนี้ มีการแสดงบัตรข้ามแดน หรือ บอร์เดอร์พาส (Border Pass) สามารถข้ามแดนได้ชั่วคราว จึงไม่มีการจัดเก็บอยู่แล้ว

สำหรับสาเหตุการเก็บภาษีท่องเที่ยวมี 8 ประเด็นหลักคือ

1.ลดภาระงบประมาณในการดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลสูญเสียงบประมาณแผ่นดินประมาณ 300-400 ล้านบาท (ดูแลด้านสาธารณสุข) จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไม่เต็มจำนวน หรือส่วนที่ต่างชาติเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาแล้วไม่มีเงินจ่าย

2.รายได้จากการจัดเก็บจะนำมาเป็นงบประมาณสำหรับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว

3.เป็นรายได้สำหรับการดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ปลอดภัย

4.สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว

5.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

6.ใช้สำหรับการพัฒนาทักษะด้านการบริหาร การตลาด หรืออนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน

7.ส่งเสริมสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ในท้องถิ่น

8.จัดสรรส่วนหนึ่งไปทำประกันภัยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประกันอุบัติเหตุ) หรือดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เหมือนกับ “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาและสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img