“จุลพันธ์” เด้งรับนายกรัฐมนตรีจ่อแก้ไขกฏหมายการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี 2527 ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันพร้อมเพิ่มโทษ-เอาผิดแม่ข่าย โยนให้กระทรวงยุติธรรมดูแลหวังแก้ปัญหาได้ทันเหตุการณ์
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยการแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่จากเหตุการณ์กรณี ดิไอคอนกรุ๊ปว่า ได้รับมอบหมายจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการปรับแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนปี 2527 เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้ทันสมัยมากขึ้น เพราะกฎหมายนี้ใช้ตั้งแต่ปี 2527 ตั้งแต่สมัยแชร์แม่ชม้อย
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับที่ต้องได้รับการปรับปรุงเช่นเดียวกัน อาทิ
- พ.ร.บ.เกี่ยวกับการขายตรง และตลาดแบบตรง พ.ศ.2545
- พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ปี 2560
- พ.ร.บ. การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปี 2542
สำหรับเบื้องต้นกฎหมายฉบับที่ปรับปรุงใหม่ จะมีการปรับแก้ข้อกำหนดหลายประเด็น เช่น การปรับเพิ่มโทษ โดยสามารถเอาผิดไปถึงระดับ แม่ข่าย ที่อยู่ในระดับล่างกว่าตัวแทน หรือ “ดีลเลอร์” เนื่องจากกฎหมายในปัจจุบันเอาผิดได้เฉพาะระดับบนๆ หรือบอสเท่านั้น
ขณะเดียวกันจะปรับเปลี่ยนผู้ใช้กฎหมายจากกระทรวงการคลัง เป็นกระทรวงยุติธรรม เพราะกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานนโยบายเท่านั้น ไม่มีเครื่องมือในการไปเอาผิดกลุ่มเหล่านี้ได้ทันถ่วงที รวมทั้งการสร้างเครื่องมือกลไก เพื่อเตือนให้หน่วยงานรัฐบาลและสังคมได้เห็นก่อนจะมีปัญหา
อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2527 และล่าสุดถึงปี 2567 รวมแล้วเป็นจำนวน 40 ปีไม่มีการแก้ไข มองว่าหลังจากนี้ไป 3-4 ปี รูปแบบแชร์ลูกโซ่จะเปลี่ยนไปแน่นอน เพราะเทคโนโลยีมาเร็ว ถ้ากฎหมายยังแข็งทื่อ จะตามไม่ทันกลโกงใหม่ๆ ดังนั้นการปรับแก้กฎหมายให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอ จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงกลโกงใหม่ๆ ในอนาคตได้