วันพฤหัสบดี, มกราคม 2, 2025
หน้าแรกCOLUMNISTS“ต่างชาติ”แห่ลงทุนในไทยทุบสถิติ 10 ปี “ของจริง”หรือแค่“ภาพลวงตา” ??
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ต่างชาติ”แห่ลงทุนในไทยทุบสถิติ 10 ปี “ของจริง”หรือแค่“ภาพลวงตา” ??

บรรยากาศ การลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่จะเข้ามาลงทุนโดยตรง หรือที่เรียกว่า “FDI” ในบ้านเราเงียบเหงาซบเซามาหลายปี ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้งทางความคิด จนเกิดความวุ่นวาย รัฐบาลในห้วงนั้นไร้เสถียรภาพ นโยบายขาดความต่อเนื่อง เศรษฐกิจโตช้า ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจที่จะลงทุน

ประกอบกับเกิดการรัฐประหารของ คสช. ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ถือว่าขัดกับหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหลักสากลทำให้นักลงทุนในบางประเทศ หันไปลงทุนที่อื่นแทน รวมถึงศักยภาพของประเทศไทยหลายๆ ด้าน เริ่มถดถอย โดนประเทศเพื่อนบ้านแซงขึ้นหน้า โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่ได้เปรียบ ทั้งค่าแรงราคาถูกกว่า มีศักยภาพมากกว่า การเมืองมีเสถียรภาพกว่า

ท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึม เพิ่งจะเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวนมากถึง 2,195 โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าเงินลงทุนมีมากถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีประมาณ 500,000 ล้านบาท

ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญการขอรับการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ประกอบด้วย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 

สำหรับ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวมกว่า 540,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 ประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด ประกอบด้วยสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่น 

นอกจากนี้ มีรายงานว่า บริษัทต่างชาติในจีนกว่า 400 บริษัท กำลังหาทางโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะไม่ไกลจากจีน ไม่มีข้อพิพาทกับใคร เฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่คาดว่าจะมีการลงทุนโดยตรงเพิ่มจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 53% เป็นเงิน 7.6 พันล้านเหรียญ เกือบจะสูงสุดในกลุ่มอาเซียนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่บริษัทข้ามชาติจากจีน ที่ทยอยย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเท่านั้น แต่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง Microsoft, Amazon, Google รวมไปถึง Nvidia ก็เตรียมแผนที่จะมาลงทุนในไทยด้วยเช่นกัน

มีข้อน่าสังเกตว่า เริ่มมีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ที่เรียกว่า “บิ๊กเทค” เข้ามาลงทุน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้เข้ามาติดต่อกับนิคมอุตสาหกรรมบ้านเรามา 2-3 ปีแล้ว แต่ไม่เป็นข่าว เพิ่งตัดสินใจลงทุน และไม่ใช่ลงทุนที่ไทยเท่านั้น แต่เข้าไปลงทุนหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดฯ มาเลย์และสิงคโปร์ โดยเม็ดเงินลงทุนมากกว่าลงทุนไทยที่พลอยได้อานิสงส์ด้วยเท่านั้น 

ส่วนบริษัทที่ย้ายฐายจากจีนนั้น ส่วนหนึ่งก็คงหลีกหนีความขัดแย้งจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ แต่อีกด้านหนึ่ง น่าสงสัยว่า จะเข้ามาอาศัยสิทธิประโยชน์บางอย่างจากไทยหรือไม่ ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย มักจะไม่ใช้แรงงานคนไทย แต่จะนำเข้าแรงงานคนจีน อ้างว่าเป็นการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ประเทศไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี

สิ่งที่น่าสนใจตรงที่ ตัวเลขสถิติที่บีโอไอ.เอามาตีปี๊บประโคมข่าวนั้น หากดูเผินๆ อาจทำให้เราใจชื้นได้ หลังจากที่การลงทุนจากต่างประเทศในบ้านเรา ซบเซามานาน มิหนำซ้ำบริษัทต่างชาติในไทยไม่น้อย ย้ายฐานการผลิตหนีไทยไปเวียดนามในช่วงทศวรรษทีผ่านมา 

แต่ก็นับเป็นข่าวดีที่การลงทุนต่างประเทศไทยเริ่มกระเตื้อง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้การันตีว่า นักลงทุนต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะลงทุนทั้งหมด บางรายยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ดูว่าที่ไหนที่เขาจะได้ประโยชน์สูงสุด แรงงาน และระบบสาธารณูปโภคประเทศไหนพร้อมที่สุด แล้วจึงตัดสินใจลงทุน 

บทเรียนในอดีตมีไม่น้อย ที่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยแล้ว ต่อมาประสบ ปัญหาความล่าช้าในระบบราชการ เจอเรียก “เงินใต้โต๊ะ” บางรายเตรียมพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน แต่ถูก “อิทธิพลท้องถิ่น” เรียก “ค่าคุ้มครอง” ต้องย้ายหนีไปลงทุนที่อื่นแทนก็เคยมี 

การประกาศตัวเลขการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตัวเลขอาจดูดี ถือเป็นผลงาน รัฐบาลก็เอามาใช้หาเสียงได้ แต่มันก็แค่ภาพลวงตา อย่างไรเสีย ควรจะทำสถิติดูว่า แต่ละปียื่นเท่าไหร่ ขอถอนหันไปลงทุนที่อื่นเท่าไหร่-เพราะอะไร จะได้แก้ปัญหาตรงจุด เกาถูกที่คัน 

………………………….

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img