วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหนุนการส่งออกไทย เดือนก.ย.ขยายตัว 1.1% คาดทั้งปีโต 2%
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหนุนการส่งออกไทย เดือนก.ย.ขยายตัว 1.1% คาดทั้งปีโต 2%

“พูนพงษ์” เปิดตัวเลขส่งออก 9 เดือน ขยายตัว 3.9% โดยเฉพาะก.ย.ขยายตัว 1.1% แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก คาดทั้งปีโต 2% มูลค่าการส่งออกทำนิวไฮแตะที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้าน ขยายตัว 1.1% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 3.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,589.0 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 394.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนก.ย.ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสำคัญยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญ การเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกไทย

สำหรับภาพรวมการส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.2 %  การนำเข้า มีมูลค่า 229,132.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5 % ดุลการค้า 9 เดือนแรก ขาดดุล 5,956.8 ล้านดอลลาร์

“การส่งออกในเดือนก.ย.นี้ ได้รับปัจจัยบวก จากภาวะการค้าโลก และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เติบโตตามรอบวัฎจักร ส่งผลดีต่อสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต” นายพูนพงษ์ กล่าว

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า การส่งออกเดือน ก.ย.ขยายตัว 1.1 % มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.5 %   โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 0.2 % และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว  7.8 % โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 15.2 %  ยางพารา ขยายตัว 47.4 %  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 15.6%) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 21.5 %ไก่แปรรูป ขยายตัว  0.8 % และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว  27.4 %

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 20.9 % ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว  29.2 % น้ำตาลทราย หดตัว 10.4 % ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัว 3.0 %  และผักกระป๋องและผักแปรรูป หดตัว 6.4 % หดตัว ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.4%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว  2.0 %  โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 25.5 %  ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 15.7 %  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 8.7%   เคมีภัณฑ์ ขยายตัว  4.4 %  เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 22.5 %  

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 9.9%   อัญมณีและเครื่องประดับ หดตัว 6.5 % เม็ดพลาสติก หดตัว  5.2% เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัว 7.6 %  เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว  20.6 %   ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว  3.8%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัวโดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร  ที่อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ โดย ตลาดหลัก ขยายตัว 2.6%  เช่น ตลาดสหรัฐฯ  18.1%  สหภาพยุโรป (27)  4.1%  และ CLMV   8.3 %  ขณะที่หดตัวในตลาดจีน 7.8 %  ญี่ปุ่น  5.5%   อาเซียน (5)  6.7 %

ส่วน ตลาดรอง ขยายตัว 1.3 %   โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย  12.0%  ตะวันออกกลาง  3.5%  แอฟริกา  1.6%  ลาตินอเมริกา 15%   และสหราชอาณาจักร  29.3  % ขณะที่หดตัวในตลาดเอเชียใต้ 1.6 % และ รัสเซียและกลุ่ม CIS  9.8 % ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว  39.3%

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย เป็นต้น  

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะบรรลุได้ตามเป้าหมายที่ 2 %  โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี นอกจากนี้ แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

“การส่งออกของไทยในปีนี้ มีโอกาสจะโตเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปี ก็มีแนวโน้มจะทำนิวไฮ แตะที่ 290,000 ล้านดอลลาร์ จากในปี 2565 ที่เคยทำนิวไฮไว้แล้วที่ 287,000 ล้านดอลลาร์”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img