‘พริษฐ์’ ข้องใจกกต กำหนดวันเลือกตั้ง นายก อบจ. วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.68 ชี้บางคนยังทำงานไม่ได้หยุด เกรงประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลำบาก แนะกกต. ทบทวนแผน จ่อนำกมธ.พัฒนาการเมืองฯเข้าพบ 28 พ.ย. นี้
วันที่ 6 พ.ย. 2567 เวลา 13.00 น.ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ให้วันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 เป็นเรื่องน่ากังวล 2 ประการ คือ คนส่วนมากทำงานวันเสาร์ และวันอาทิตย์ลางานไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง สำหรับผู้ที่ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แต่ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนา หากวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ เวลาเดินทางก็จะถูกบีบให้แคบลง นอกจากนี้ยังไม่เห็นเหตุผลชี้แจงว่าทำไม กกต. ถึงเลือกวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ เพราะจากสถิติของทุกการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นวันอาทิตย์ทั้งหมด จึงอยากให้ กกต. ทบทวน และเปลี่ยนวันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ เพื่อความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
เมื่อถามว่าในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร จะมีการเชิญให้ กกต. มาชี้แจงกรณีดังกล่าวหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรรมาธิการของเราต้องการให้ กกต. มาชี้แจง ซึ่งนับไม่ถูกว่ากี่เดือนกว่าที่ กกต. จะตอบรับคำเชิญ และล่าสุด กกต. ได้ออกหนังสือว่า หากจะต้องเชิญให้เชิญมาชี้แจง ควรแจ้งก่อน 1 เดือนล่วงหน้า ทางกรรมาธิการของเราจึงได้ทำหนังสือขอเข้าพบ กกต. ในช่วงปิดสมัยประชุม ก่อนได้คำตอบรับว่าให้เข้าพบในวันที่ 28 พฤศจิกายน นี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าเป็นวันที่ 7 พ.ย.
“เรามีนัดเข้าพบกับ กกต. และจะนำทุกประเด็นเข้าหารือ แต่ในเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงหวังว่า กกต. จะทบทวนการตัดสินใจ ก่อนวันที่ 28 พ.ย.นี้” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าข้อสังเกตว่านายก อบจ. ทยอยลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ จะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการลาออกก่อนครบเป็นการเพิ่มงบประมาณให้สูงขึ้น ที่ผ่านมากรรมาธิการพยายามศึกษากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายประเด็น รวมถึงเรื่องนี้ พบว่าทางออกที่พอเป็นไปได้ คือให้วาระของนายก อบจ. และ ส.อบจ. ทุกจังหวัดเกิดขึ้นพร้อมกันทุก 4 ปี หากมีฝ่ายบริหารลาออกก่อน เช่น นายก อบจ. ก็ให้รองนายก อบจ. มาทำหน้าที่แทน หากเป็นแบบนี้จะได้ประโยชน์หลายเท่า คือประชาชนจะมีความสะดวกมากขึ้นในการออกมาใช้สิทธิ เพราะทุกจังหวัดเลือกตั้งวันเดียวกัน และเลือกตั้งนายก อบจ. กับ ส.อบจ. พร้อมกัน และเป็นประโยชน์ต่อผู้จัดการเลือกตั้งที่สามารถประหยัดงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ต่อสื่อมวลชน เพราะการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจะง่ายขึ้น หากวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะง่ายขึ้นกับการวางแผนทำงาน