‘ปธ.กมธ.ความมั่นคงฯ’ ปูด ‘ทักษิณ’ เช็กอาการแค่ 4 นาที อีก 17 นาทีเดินทางไป ‘รพ.ตำรวจ’ รวมใช้แค่ 21 นาที อ้าง หน่วยงานโยนเผือกร้อนกันไปมา ตกลงอำนาจใครไฟเขียวไปนั่งแท่น ‘เทวดาชั้น14’ ข้องใจ ‘แม้ว’ มีเอี่ยวสวมบทบาทตบตา ‘ป่วยทิพย์’ ปั่นหัวจนท.รัฐได้ผล โอดตั้งแต่ทำงานมาเคสนี้ ‘พิศวง’ ได้รับร่วมมือน้อยสุด
วันที่ 7 พ.ย.2567 เวลา 12.50 น. ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ.ฯ เชิญบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหารือกรณีการพักษาอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปโดยถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ว่า ได้พิจารณา3กรอบแนวทางหลัก 1.การไปพักรักษาตัวของนายทักษิณ ที่ชั้น14โรงพยาบาลตำรวจ ชอบหรือไม่ 2.การพักรักษาตัวอยู่ยาวแบบนี้ สุดท้ายเป็นการตัดสินใจของใคร ถูกต้องทั้งทางการแพทย์ และทางกฎหมายหรือไม่ 3.ตั้งแต่นายทักษิณออกมาจนถึงปัจจุบัน มีปัญหาในเชิงความชอบด้วยกฎหมายอะไรบ้าง ต้องยอมรับว่า2แนวทางแรกมีปัญหาอย่างมากในการพิจารณา เช่น การที่นายทักษิณป่วย มีอาการแน่นหน้าอก และไปที่สถานพยาบาล ปรากฎข้อมูลที่เราได้รับทราบว่าสุดท้ายคนที่มาดูแลสุขภาพนายทักษิณเป็นแค่พยาบาลเท่านั้น นายทักษิณไม่ได้ถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลราขทัณฑ์เลย แพทย์ราชทัณฑ์ก็ไม่ได้มีโอกาสมาดูด้วยตา หรือใช้เครื่องมือดูแลสุขภาพนายทักษิณ มีเพียงพยาบาลโทรไปหาแพทย์ราชทัณฑ์เพื่อปรึกษา แล้วส่งตัวไปที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงเป็นที่เคลือบแคลงว่าทำไมกระบวนการถึงเป็นแบบนั้น
“หลังจากเราไล่ไทม์ไลน์ทั้งหมด ระยะเวลาตั้งแต่นายทักษิณไปถึงสถานพยาบาล และพิจารณาหารือกับพยาบาลที่ได้ปรึกษาแพทย์ราชทัณฑ์ แล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตำรวจ จากข้อมูลที่ได้รับใช้เวลาเพียง21นาทีเท่านั้น หากตรวจดูจากกูเกิ้ลแมพดูระยะเวลาการส่งตัว ใช้เพียง17นาทีเท่านั้น หมายความว่าระยะเวลาในการวินิจฉัย มีแค่เพียง4นาที ถือเป็นการทำเวลาได้รวดเร็วมาก” นายรังสิมันต์ กล่าว
ประธานกมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมา เราได้รับคำอธิบายว่าการส่งตัวนายทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจ ดำเนินการโดยผู้บัญชาการเรือนจำ เรื่องนี้ค่อนข้างแปลก ทำไมบทบาทของหมอโดยเฉพาะโรงพยาบาลราชทัณฑ์ถึงดูน้อยมาก ในการให้ความเห็นเรื่องนี้ สุดท้ายเป็นการโยนกันไปมา แน่นอนว่าวันนี้ตัวแทนของโรงพยาบาลตำรวจไม่ได้มาเข้าชี้แจงต่อกมธ.ฯเลย แต่เราติดตามข่าวสาร รองนายแพทย์ใหญ่ของโรงพยาบาลตำรวจ เคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าการที่นายทักษิณต้องอยู่รักษาตัว ไม่ใช่การตัดสินใจของโรงพยาบาลตำรวจ แต่เป็นการตัดสินใจของกรมราชทัณฑ์ แต่วันนี้ได้รับคำตอบจากราชทัณฑ์ว่า ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของราชทัณฑ์ แต่เป็นการตัดสินใจของแพทย์เจ้าของไข้ กมธ.ฯก็พยายามตรวจสอบหารายชื่อแพทย์เจ้าของไข้นายทักษิณ แต่ไม่ได้รับคำตอบเลย จนไม่แน่ใจว่าการที่นายทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการตัดสินใจของใคร
“กมธ.พยายามแสวงหาคำตอบ ก็ไม่มีใครยืนยันกับเราได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้า2กรณีนี้ไม่ได้ข้อยุติ จะกลายเป็นว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ ถ้าไม่ป่วยจริง ปรากฎว่านายทักษิณอาจมีส่วนในการตัดสินใจด้วย ความรับผิดชอบจะไม่ได้อยู่ที่แค่หน่วยราชการ แต่นายทักษิณอาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงบทบาทบางอย่าง เพื่อทำให้เกิดการหลงเชื่อว่าตัวเองเจ็บป่วย ทำให้ผลของการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐต้องส่งไปโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้สุดท้ายการที่นายทักษิณไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่แน่ใจว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เราได้รับข้อมูลจากเลขานุการกมธ.ฯ ว่าการที่นายทักษิณไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจห้องพิเศษ มีค่าใช้จ่ายจำนวน8,500บาท เบ็ดเสร็จรวมแล้วอาจมีค่าใช้จ่ายถึง1ล้านบาท จึงมีคำถามต่อมาว่าตกลงใครเป็นคนจ่าย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ เวชระเบียน ข้อมูลการรักษา ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ข้อเท็จจริงหลายอย่างไม่ปรากฎชัดเจนต่อกมธ.ฯ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเรื่องนี้น่าสงสัย มีพิรุธ ตั้งแต่ตนทำงานเป็นประธานกมธ.ฯมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้รับความร่วมมือน้อยที่สุดจากหน่วยงานราชการ และหน่วยงานราชการไม่อยากบอกอะไรกับเราเลย ทำให้ข้อสงสัยของสังคมเรื่องชั้น14ยังคงอยู่ต่อไป
เมื่อถามว่าระยะเวลาผ่านมานานแล้วทำไมถึงหยิบยกเรื่องนี้กลับมาพิจารณาอีกรอบ ประธานกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กล่าวว่า ระยะเวลาที่ผ่านมานาน ไม่ได้ทำให้กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนั้นกระจ่างเลย ถามว่าทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ ตนคิดว่าไม่ใช่คนเดียวที่ต้องตอบ แต่การที่มีคนไปร้อง การที่ประชาชนตั้งคำถาม เป็นการยืนยันว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่พิศวง ยังไม่มีที่สิ้นสุดที่เราจะต้องแสวงหาข้อมูลต่อไป