วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“กฟผ.”ชวน“นักลงทุน”ซื้อ“ไฟฟ้าสีเขียว” มีไฟฟ้าพลังน้ำป้อนกว่า3,000เมกะวัตต์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กฟผ.”ชวน“นักลงทุน”ซื้อ“ไฟฟ้าสีเขียว” มีไฟฟ้าพลังน้ำป้อนกว่า3,000เมกะวัตต์

กฟผ.ชวนนักลงทุนซื้อไฟฟ้าสีเขียว ระบุมีไฟฟ้าพลังน้ำพร้อมป้อนกว่า 3,000 เมกะวัตต์ พร้อมเดินหน้าผลิตเพิ่มลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 3 โรง 9 หมื่นล้านบาท ย้ำเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีต้นทุนค่าไฟต่ำ ลดคาร์บอน และเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าจากโซลาร์-ลม

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของกฟผ. มีความพร้อมสำหรับรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนด้าน Data Center ในประเทศไทยซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าสีเขียว โดยอย่างน้อย กฟผ.มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วประเทศป้อนเข้าระบบกว่า 3,000 เมกะวัตต์ที่สามารถขายผ่านโครงสร้างของ UGT (Utility Green Tariff ) หรือราคาซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวของประเทศได้ทันที

ธวัชชัย สำราญวานิช

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของกฟผ.นั้น นอกจากป้อนเข้าระบบแล้วกว่า 3,000 เมกะวัตต์​ ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (กฟผ.) หรือ PDP 2024 ยังมีการบรรจุการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับด้วย ซึ่งกฟผ.เป็นผู้ดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนจุฬาภรณ์ 801 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2577, โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนวชิราลงกรณ 891 เมกะวัตต์ ปี 2579 และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เขื่อนกระทูน จ.นครศรีธรรมราช 780 เมกะวัตต์ ปี 2580 กำลังผลิตรวม 2,472 เมกะวัตต์ ทั้ง 3 โครงการมูลค่าลงทุน รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน กฟผ.ได้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์แล้ว ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนส่งให้กระทรวงพลังงานและเสนอครม.ต่อไป โดยโครงการที่เหลือจะทยอยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้แม้ขั้นตอนการอนุมัติโครงการจะต้องใช้เวลาหลายปี และผ่านหลายหน่วยงาน แต่เทคโนโลยีการขุดเจาะปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยมีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยให้งานขุดเจาะ ทำให้ดำเนินการทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น เรียกว่า Tunnel Boring Machine หรือ TBM สามารถลดระยะเวลาในการก่อสร้างได้ รวมถึงมีความปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ จะช่วยตอบโจทย์ความมั่นคง เพราะเป็นระบบกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่งที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ หรือประมาณ 2 บาทต่อหน่วยเท่านั้น และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาก๊าซฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ ทั้งยังช่วยเสริมระบบไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งเดินไม่ได้ตลอด 24 ชม.โดยกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับนั้นในช่วงที่ไม่ผลิตไฟฟ้าจะสูบน้ำกลับขึ้นมาสำรองไว้ที่อ่างเก็บน้ำด้านบน เมื่อถึงเวลาผลิตไฟฟ้าจะปล่อยน้ำจากด้านบนอ่างมาผลิตไฟฟ้า สามารถทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ได้ทันที

ทิเดช เอี่ยมสาย

ด้าน นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ระบุว่า กฟผ. มุ่งเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงอย่างต่อเนื่องรวมถึงโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ และตอบโจทย์พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเร่งดำเนินโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำโครงการที่เหลืออีก 2,656 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ตามร่างแผน PDP2024 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนน้ำพุง รวม 15 โครงการ

ในส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ นายธวัชชัย กล่าวว่า ตามร่างแผน PDP 2024  ที่กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการนั้น เบื้องต้นจะมี 2 โรงประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 2571 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 5 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ถือเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความสำคัญในการป้อนระบบไฟฟ้าของกรุงเทพและปริมณฑลที่ใช้ไฟฟ้าถึง 10,000 เมกะวัตต์ จากทั้งประเทศใช้ไฟอยู่ 36,000 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าหลักที่ป้อนพื้นที่มาจาก 2 โรงหลักเท่านั้น คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 1,300 เมกะวัตต์ และพระนครใต้ 1,400 เมกะวัตต์ ที่เหลือต้องพึ่งพาจากโรงไฟฟ้านอกพื้นที่

ทั้งนี้ตามร่างแผน PDP 2024  กำหนดให้กฟผ.เป็นผู้ดำเนินการอีก ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 6 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2578, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 4 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2579

…………..

รายงานพิเศษ : “ศรัญญา ทองทับ”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img