นายกฯยันกัมพูชาพร้อมหนุนไทยทุกเรื่อง คาดตั้งกก.JTCเจรจาMOU44หลัง14พ.ย.เรียบร้อย หลัง “ฮุน มาเนต”ทวงถาม
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กดดันให้ยกเลิก เอ็มโอยู 44 โดยเห็นว่ายังมีปัญหาทางกฎหมาย และยังไม่ได้ผ่านรัฐสภา ว่า เอ็มโอยู 44 จริงๆแล้วในเรื่องของตัวกฎหมายยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักอันนี้ ส่วนเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้อง ขออธิบายว่าเรื่องไม่ฟ้องมันเกิดขึ้นได้ ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว ฉะนั้นการที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญมาก ถ้าสมมติว่าจะยกเลิกก็ต้องดูว่าจะยกเลิกเพื่ออะไร และถ้ายกเลิกแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องคิดในเรื่องนี้ มันทำได้แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องมีการคุยกันก่อน ซึ่งต้องขอเวลาเล็กน้อยที่จะคุยกัน
นายกฯ กล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ และตนได้มีโอกาสเจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งก็ไม่มีอะไรเลย ท่านยังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยไหมให้บอกกันมา และจริงๆแล้วเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจมากกว่าว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องขอเน้นย้ำอีกรอบหนึ่ง และการขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกันจึงต้องเกิดเอ็มโอยู 44 ขึ้นเพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของรัฐบาลอยู่ในขั้นตอนคาดว่าหลังกลับจากการไปประชุมเอเปกในวันที่ 18 พ.ย. การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ก็น่าจะสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งอันนี้ได้บอกกับทางกัมพูชาแล้วว่าการตั้งคณะกรรมการดังกล่าวน่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งก็โอเค แล้วเดี๋ยวจะคุยทุกอย่างร่วมกันผ่านคณะกรรมการนี้
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า เอ็มโอยู 44 เป็นข้อที่ได้พูดคุย ในเรื่องการขยายไหล่ทวีป เป็นข้อตกลงกันแต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา แต่ถ้าหลังจากตกลงอะไรกันเรียบร้อยแล้ว หากมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาก็จะต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง ด้าน น.ส.แพทองธาร อธิบายเพิ่มเติมว่า ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าสภามันเป็นการตกลงระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากมีข้อตกลงเพิ่มเติมก็ต้องคุยผ่านคณะกรรมการ ทุกอย่างเรียบร้อยแล้วค่อยเข้าสภา
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันว่า การเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล สามารถชะลอได้ เพื่อให้ข้อท้วงติงอื่นๆ ได้ข้อยุติ เพียงแต่การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือ JTC จะต้องมีขึ้น หากไม่มี ฝ่ายกัมพูชาก็จะไม่รู้ว่าจะพูดคุยอะไรกัน ยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่ต้องรีบเร่ง ส่วนเนื้อหาภายในไม่ต้องเร่ง ซึ่งตนได้พูดคุยกับทางกัมพูชา พูดตรงกันว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่ต้องพูดคุยให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน และมองว่าหากการจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเสร็จ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น มีการตรวจสอบได้ การพูดคุยของทั้ง 2 ประเทศก็จะเกิดขึ้น ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากขึ้น