กรมอนามัยเผยแยกกินข้าวกับคนในครอบครัวเป็นพฤติกรรมที่ประชาชนทำได้น้อยที่สุด แนะประชาชนเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ภายในครอบครัวและชุมชนให้มากขึ้นและต่อเนื่อง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีการแพร่ระบาดและการติดเชื้อในแคมป์คนงานมีสูงขึ้น เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันหลายจุด เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม จุดกินอาหาร และยังพบคนงานเดินทางไปในตลาดชุมชน เพื่อซื้อของกิน ของใช้ และยังมีการเดินทางข้ามพื้นที่ อีกทั้งการระบาดหลายกลุ่มก้อนในขณะนี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระจายไปสู่คนในครอบครัวและชุมชนอีกครั้ง หากไม่มีการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองที่ดีจึงจำเป็นขอความร่วมมือประชาชนในทุกครอบครัวและชุมชนเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจากผลสำรวจอนามัยโพลประเด็น “ความกังวลและพฤติกรรมการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน” ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกกังวล ต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่พบในชุมชนหรือครอบครัวสูงถึง ร้อยละ 93.6 โดยกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกกังวลต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในชุมชนคือการกินดื่มร่วมกัน ร้อยละ 46.4 รองลงมาคือการรวมตัวกัน ร้อยละ 25.3
ส่วนพฤติกรรมที่ประชาชนปฏิบัติได้น้อยที่สุดคือการแยกกินข้าวกับคนในครอบครัว ร้อยละ 65.3 สำหรับพฤติกรรมการสวมหน้ากากของคนในชุมชนเมื่อออกนอกบ้านส่วนใหญ่พบเห็นว่ามีการสวมถูกต้องเพียงร้อยละ 68.2 และพบว่าข้อมูลที่ประชาชนต้องการมากที่สุดเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวคือข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ร้อยละ 38 รองลงมาคือวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในครอบครัวหรือชุมชุน ร้อยละ 22.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นผู้แยกกักตัว และอาศัยอยู่ภายในบ้านร่วมกับผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเด็ก ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1) หยุดงาน หยุดเรียน ไม่ออกไปนอกบ้านหรือที่พักอาศัยไม่เดินทางไปที่ชุมชนหรือที่สาธารณะอย่างน้อย 14 วัน นับแต่วันที่เดินทางจากพื้นที่ระบาด หรือวันสุดท้ายที่สัมผัสผู้ป่วย
2) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หากทำไม่ได้หรือมีพื้นที่จำกัด ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเด็กในบ้านโดยเด็ดขาด
3) สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการผิดปกติทางผิวหนัง ไอ หรืออาการทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ให้รีบไปพบแพทย์
4) ในแต่ละวันให้รวบรวมขยะ หน้ากากอนามัยไว้ในถุง ก่อนทิ้งให้ใส่น้ำยาฟอกขาว 2 ฝา ก่อนใส่ถุงอีกชั้น ปิดปากถุงให้สนิท
5) กินอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงสุก สะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ
6) แยกห้องนอน พร้อมทั้งแยกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัว และแยกการกินอาหาร หากเป็นไปได้แยกใช้ห้องน้ำห้องส้วมออกจากผู้อื่นแต่หากไม่สามารถแยกห้องได้ ให้ผู้อื่นใช้ห้องน้ำก่อน ส่วนผู้แยกกักตัวใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดให้เรียบร้อย พร้อมทั้งเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้มีการระบายอากาศที่ดี