วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 14, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSสนข.ชู 4 โมเดลต่างประเทศเก็บค่าธรรมเนียมแก้ปัญหารถติด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สนข.ชู 4 โมเดลต่างประเทศเก็บค่าธรรมเนียมแก้ปัญหารถติด

“กฤชนนท์” เผยนโยบายการปัญหารถติดกำลังเร่งดำเนินการ ด้านสนข.ชู 4 โมเดลต่างประเทศศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ในไทย หวังนำเงินเก็บค่าธรรมเนียมรถติดสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge)ในเขตพื้นที่ชั้นในว่า อยู่ระหว่างการศึกษาข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้น รวมถึงพื้นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียม รูปแบบการชำระค่าธรรมเนียม โดยจะนำข้อมูลในต่างประเทศมาเปรียบเทียบ เพื่อนำมาใช้กับประเทศไทย โดยการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เพื่อนำมาสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำรูปแบบการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดใน 4 ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้มีความเหมาะสม

1.ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีการใช้ระบบกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ (ANPR) เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง รัศมีขนาด 21 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) จัดเก็บในช่วงวันจันทร์–ศุกร์ เวลา 07.00-18.00 น. และวันเสาร์–อาทิตย์ เวลา 12.00 -18.00 น. แต่ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจัดเก็บในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน (ประมาณ 658 บาท)

ส่วนวิธีการชำระเงินนั้น สามารถชำระได้ในช่องทางแอปพลิเคชัน และออนไลน์ ซึ่งผลลัพธ์จากการศึกษามาตรการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนที่ลอนดอน พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18%

2.ประเทศสิงคโปร์ จัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ศูนย์กลางของเมือง, ทางด่วน และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ในวันจันทร์-เสาร์ ช่วงเวลา 06.00-22.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 1 – 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (26–158 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ, ช่วงเวลา และพื้นที่ สามารถชำระเงินได้ที่ชุดควบคุมภายในรถ (IU) โดยเชื่อมต่อกับเครื่องชำระเงินผ่านบัตรแทนเงินสด หรือบัตรเดบิต และเครดิต 

ขณะที่ระบบการทำงานนั้น จะใช้เทคโนโลยีวิทยุระบุความถี่ (RFID) เพื่อทำการเก็บค่าธรรมเนียมความแออัดโดยอัตโนมัติจากยานพาหนะที่ติดตั้ง IU ที่ผ่านไปใต้ประตู ERP โดยผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 15%

3.สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน จัดเก็บในพื้นที่ศูนย์กลางของเมืองทางหลวงพิเศษเอสซิงเกเลเดน (Essingeleden Motorway) ในวันจันทร์–เสาร์ เวลา 06.30-18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 11 – 45 โครนาสวีเดน (35.53 –145.35บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ ช่วงเวลา และพื้นที่ 

ขณะเดียวกันกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ จะตรวจจับค่าผ่านทางบนถนน โดยจะบันทึกยานพาหนะทั้งหมด และมีการส่งใบแจ้งหนี้ ไปยังเจ้าของยานพาหนะในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ ผลลัพธ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ พบว่า จราจรติดขัดลดลง 20% มีการใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 5% ขณะที่ โกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน ก็ได้มีการจัดเก็บในพื้นที่ใจกลางเมืองโกเธนเบิร์กทั้งหมด 

ส่วนถนนสายหลัก E6 ในวันจันทร์–เสาร์ เวลา 06.30-18.29 น. ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในราคา 9–22 โครนาสวีเดน (29.07 –71.06 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ, ช่วงเวลา และพื้นที่

ทั้งนี้รูปแบบการชำระเงิน และการดำเนินการ จะเป็นเช่นเดียวกันกับสต็อกโฮล์ม โดยการดำเนินการในโกเธนเบิร์กนั้น พบว่า จราจรติดขัดลดลง 10% และใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่ม 6%

4.มิลาน ประเทศอิตาลี ได้ติดตั้งกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ เพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ ในพื้นที่ใจกลางเมืองมิลาน บริเวณเซอร์เคีย เดย บาสติโอนี่ (Cerchia dei Bastioni) แบ่งเป็น วันจันทร์- อังคาร-พุธ และศุกร์ เวลา 7.30-19.30 น.

ส่วนวันพฤหัสบดี เวลา 7.30-18.30 น. (ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) จัดเก็บในราคา 2-5 ยูโรต่อวัน (76.42 -191.05 บาท) ขึ้นอยู่กับประเภทรถ 

ทั้งนี้สามารถชำระเงินได้ผ่านตู้ชำระเงินบริเวณที่จอดรถ, เครื่องเอทีเอ็ม, แอปพลิเคชัน และระบบออนไลน์ โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว พบว่า การจราจรติดขัดลดลง 34% 

โดยจะเห็นได้ว่า ประเทศที่ดำเนินการจะเก็บค่าธรรมเนียมรถติด พบว่า มีปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าก่อนเริ่มใช้มาตรการนั้น ประชาชนจะตั้งข้อสังเกตุในหลายกรณี แต่เมื่อหลังเริ่มใช้แล้วพบว่าประชาชนให้การสนับสนุนและให้การยอมรับ นอกจากนี้ผลการศึกษาระบุว่า ก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวนั้น มีประชาชนไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังจากเริ่มแล้วกลับมาให้การยอมรับและเห็นด้วยอย่างมาก เช่น สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ให้การยอมรับ 21% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 67% ขณะที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ ให้การยอมรับ 39% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 54% ดังนั้นกระทรวงคมนาคม จะดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

OR กับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img