วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSOR กับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนผ่าน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

OR กับอนาคตที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

ตอนนี้กำลังลุ้นกันว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนต่อไป ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR จะเป็นใคร หลังจาก “ดิษทัต ปันยารชุน” CEO OR จะเกษียณอายุครบ 60 ปีในวันที่ 11 ธ.ค.67

คาดกันว่า ชื่อจะปรากฎภายในปลายเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งกระบวนการสรรหามีชื่อ “ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา

ยังไงเสีย “ฝีมือ” ต้องนำ เพราะเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยไม่คึกคักเท่าไหร่ รักษาตัวไม่ให้เจ็บก็ว่ายากแล้ว ยังต้องสร้างการเติบโตด้วย ดูจากผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2567 ของ OR มีกำไรสุทธิ จำนวน 4,650.94 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 6,443.13 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 3/67 บริษัทฯขาดทุนสุทธิ 1,609.81 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิเป็นบวกอยู่ที่ 5,169.76 ล้านบาท

ในภาพรวม 9 เดือนตามงบการเงิน OR มีรายได้จากขายและบริการ 538,054 ล้านบาท ลดลง 39,024 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 6.76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มธุรกิจที่แผ่วคือ กลุ่มธุรกิจ Mobility โดยรายได้จากการขายลดลง 8.3% จากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

มาดู กลุ่มธุรกิจ Lifestyle มีรายได้เพิ่มขึ้น 8.07% ตามการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ของทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ กลุ่มธุรกิจ Global ปรับเพิ่มขึ้น 11.64% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ ดังนั้นแน่นอนเลยว่า กลุ่มธุรกิจ Lifestyle กับ Global ไปได้ดีกว่า เพียงแต่ OR มาสะดุดในไตรมาส 3 จาก การยุติธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น

ดิษทัต ปันยารชุน

เมื่อ “ดิษทัต ปันยารชุน” นั่งในตำแหน่ง CEO OR มา 2 ปีตั้งแต่ 1 ธ.ค.65 ก็เล็งเห็นด้วยตัวเองแล้วว่า ต้องปรับกลยุทธ์อย่างไร ในเมื่อธุรกิจขายน้ำมันผ่านปั๊มกำไรน้อยนิด

โดย “ดิษทัต” บอกเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยจะทบทวนและปรับปรุงการลงทุน (Revisit investment portfolio) ในธุรกิจต่างๆ ที่ OR ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการเดินไปสู่การเปลี่ยนผ่านโลกในอนาคต”

อย่างไรเสีย ธุรกิจค้าขายน้ำมันก็ยังต้องอยู่ แต่ OR คงจะไปโฟกัสที่ “น้ำมันอากาศยาน” ซึ่งได้กำไรต่อหน่วยมากกว่า โดยพัฒนาเป็น เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน Sustainability Certification จาก ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และสามารถเริ่มจำหน่าย SAF ได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 งานนี้ถือว่าแกร่ง เพราะร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF โดยนำกระบวนการ Co-Processing ของ GC มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรก

ส่วน ธุรกิจดิจิทัล OR ต้องคว้าเอาเข้า portfolio ด้วย เพราะเชื่อมโยงกับธุรกิจค้าปลีกและบริการที่ OR ถนัดและต้องการเพิ่มศักยภาพให้สอดคล้องกับยุคสมัย เรียกว่า “ดิษทัต” พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เขาเปิดตัวไปสำหรับ แผนปฏิรูปดิจิทัล หรือ Digital Transformation Journey เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยจะนำมาใช้กับการบริหารสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ (Real Time) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ ไปจนถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ และธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจ Virtual Bank และธุรกิจกาแฟ เป็นต้น

ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับ ธุรกิจ Virtual Bank หรือ ธนาคารไร้สาขา ซึ่ง OR จับมือ ธนาคารกรุงไทย และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ยื่นขอใบอนุญาต (License) จัดตั้ง ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดย OR ถือหุ้น 20% ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างลุ้นว่า กลุ่มไหนจะได้ไลเซนส์ 3 อันดับล็อตแรกจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

มีการวิเคราะห์ในวงการว่า กลุ่มที่ OR จับมือด้วยนั้นเป็นตัวเต็งแน่นอน เมื่อดูภาพรวมก็ถือว่าแข็งแกร่งอยู่ จากฐานลูกค้าของธนาคารกรุงไทย และ AIS ซึ่งมี backup ยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังควบรวมกับ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH บริษัทแม่ ซึ่งกำลังจับมือทยานไปสู่ธุรกิจดิจิทัลด้วยกัน โดยเฉพาะการขยายลงทุน Data Center และบริการ Cloud ที่กำลังเติบโต

ธุรกิจ Virtual Bank คิดสะระตะแล้ว ถ้า OR ไม่ร่วมขบวนอาจตกเทรนด์ และงานนี้จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์เข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลกับ “เจ้าใหญ่”

OR เองก็ใช่ว่าจะไม่มีอะไร มีฐานลูกค้าที่เป็นผู้ใช้น้ำมันผ่าน blueplus+ ที่มีสมาชิกมากกว่า 8 ล้านราย เป็นทั้งกลุ่มที่เข้าถึงบริการธนาคารอยู่แล้ว และกลุ่มลูกค้าที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคารได้ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ Virtual Bank เช่น กลุ่มที่อยู่ห่างไกล (Unserved customers) และ กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปได้ (Underserved customers) เช่น กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นต้น และอย่าลืม OR มีแพลตฟอร์มปั๊มน้ำมันที่จับต้องได้ เข้าถึงกลุ่มรายย่อยทั่วหัวระแหงได้เป็นอย่างดี

ในระหว่างรอลุ้น และเดินหน้าในเรื่อง Virtual Bank ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องลงแรงและลงตัวกันพอสมควร คาดการณ์ว่า เป็นไปได้ที่ต้องอาศัยการประสานงานจาก “ดิษทัต” ไปก่อนในระดับหนึ่งเลยทีเดียว จะรูปแบบไหนก็ต้องมาลุ้นกัน  

ส่วนปั๊มน้ำมันที่เคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ OR ตอนนี้จะค่อยๆ ปรับโฉมไป ล่าสุดได้ทำโมเดลนำร่องไป 2 แห่ง เป็น OR Space รามคำแหง 129 สร้างแห่งที่ 2 ต่อจาก OR Space เณรแก้ว สุพรรณบุรี เป็น Retail Mixed-use Platform เพื่อก้าวสู่ธุรกิจศูนย์การค้าของ OR อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีแผนการขยายสาขา OR Space อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

ต่อไปการดำเนินธุรกิจค้าปลีกที่เคยทำผ่านหน้าตาปั๊ม PTT Station จะขยับมาอยู่ที่ OR Space ที่ดึงร้านรวงมาอัดแน่นครบวงจรสะดุดตาหน้าเข้ามากกว่ารูปแบบปั๊มน้ำมัน ที่สำคัญเป็นการจัดพื้นที่ให้เข้ากับสถานีชาร์จ EV Station PluZ ที่จะต้องขยายเพิ่มขึ้นตามเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ดังนั้นการขายเชื้อเพลิงให้รถแล่นได้จะค่อยๆ เปลี่ยนโฉมไปพร้อมกับค้าปลีก และต้องเกาะไปบนแพลตฟอร์มใหม่ๆทั้งโลกจริงและโลกดิจิทัล

OR อนาคตจะเป็นอย่างไร ก็คงพอเดาออกจากการที่ OR กำลังปรับตัวไปสู่ธุรกิจเดิม แต่หน้าตาเปลี่ยนไปและธุรกิจใหม่ตามยุคสมัย การอยู่กับที่ทำธุรกิจเดียวแบบเดิมๆ ก็เหมือนถอยหลัง สำคัญคือ การเชื่อมโยงและเพิ่มศักยภาพจากต้นทุนเดิม หากัลยาณมิตรหลากหลาย และทำธุรกิจดีๆ มอบคืนให้สังคม 

…………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ศรัญญา ทองทับ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img