คณะกรรมาธิการการศึกษา การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้มีประชุมพิจารณาสถานการณ์การจัดการศึกษาให้กับแรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 8/2567 ประชุมคณะกรรมาธิการได้มีการพิจารณาสถานการณ์การจัดการศึกษาให้กับแรงงานต่างด้าว
เนื่องจาก พบปัญหาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีโรงเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนหลายแห่ง ที่มีความพร้อมในการรองรับและจัดการศึกษาให้กับเด็กที่เป็นคนต่างด้าว
แต่ปรากฎว่า มีการดำเนินงานของ “มูลนิธิบางแห่ง” ที่มาจัดการศึกษาที่มีลักษณะเป็นการ “แสวงหาผลประโยชน์” และ “มีเหตุอันควรสงสัย” จึงต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
เริ่มจาก ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กรณี นักเรียนที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เด็กรหัส G” ในฐานข้อมูลระบบ G Code
ขณะที่ผู้แทนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน การจัดการศึกษาให้กับบุคคลไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ มีรูปแบบในการจัดการเรียนรู้ คือ
1.เด็กที่มีอายุ 8-15 ปี จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น
2.ผู้เรียนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จัดการศึกษาได้ทุกระดับการศึกษา
ส่วนผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาศูนย์การเรียนที่เปิดไม่ถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN เพื่อสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนการจัดตั้งศูนย์การเรียนหรือสถานศึกษา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่
1.โรงเรียนเอกชนในระบบ
2.โรงเรียนเอกชนนอกระบบ
3.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ในพื้นที่ปกติ
4.ศูนย์การเรียนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
5.สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน
สำหรับศูนย์การเรียนที่จัดตั้งโดยมูลนิธิ LPN จะใช้หลักสูตรเมียนมา มีการสอนภาษาไทยเสริมให้กับเด็กต่างด้าวที่เข้าเรียนในสังกัด 8,396 คน เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อผู้ไม่มีทะเบียนราษฎรและไม่มีสัญชาติไทย
รวมถึงบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา โดยในระเบียบและประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้เปิดกว้าง ให้สถานศึกษากำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่ต้นสังกัดกำหนด เพื่อรับเงินอุดหนุนรายหัวตามกฎหมาย
ดังนั้น นักเรียนต่างด้าว จึงได้รับสิทธิสวัสดิการเท่าเทียมกับเด็กไทย เช่น เรียนฟรีได้รับเงินอุดหนุนรายหัว อาหารกลางวัน เสื้อผ้า ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลว่า มีการกำกับดูแลการจัดการศึกษา สำหรับเด็กต่างด้าวในสังกัด ตั้งแต่กระบวนการรับนักเรียน จัดทำทะเบียนประวัตินักเรียนต่างด้าว ตรวจสอบหลักฐานการอยู่ในประเทศไทย และจัดเก็บข้อมูลผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม พบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์การจัดการศึกษาให้กับแรงงานต่างด้าว มีจำนวนศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีนักเรียนต่างด้าวเข้าเรียนจำนวนมากมากกว่าศูนย์ที่เปิดอย่างเป็นทางการของภาครัฐ
โดยหลักสูตรที่บางศูนย์การเรียนจัดให้นั้น ไม่สามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ รวมทั้งประสบปัญหาอายุของเด็กต่างด้าวที่เข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปัญหารูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาแต่ละช่วงวัยของเด็ก
ปัญหาด้านภาษาในการประสานงาน การสื่อสาร และการประชาสัมพันธ์กับคนต่างด้าวด้านการศึกษา นอกจากนี้ ยังพบสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ชัดเจน ที่เข้ามาเป็นจำนวนมากในช่องทางรอยต่อประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้น เรื่องนี้จึงอาจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ด้านความมั่นคง ส่วนการแก้ไข อาจต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการรวบรวมและใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้การจัดเก็บข้อมูล แก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
……………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม