สศช.ประกาศจีดีพีไตรมาส 3/67 ขยายตัว 3% แรงหนุนจากการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ-การส่งออก แม้การบริโภคภาคเอกชนชะลอ คาดทั้งปีจีดีพีโต 2.6% ปีหน้าโต 2.3-3.3% เกาะติดมาตรการกีดกันทางการค้า-ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2567 ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสที่สองของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% เป็นผลมาจากการใช้จ่าย การลงทุนภาครัฐขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส การส่งออกสินค้าและบริการ และการอุปโภคบริโภครัฐบาลขยายตัวในเกณฑ์สูง แม้ว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง
โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.4% ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายในทุกหมวดสินค้าและการลดลงต่อเนื่องของการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยการใช้จ่ายหมวดบริการขยายตัว 6.5% ชะลอลงจาก 8.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร การบริการด้านสุขภาพ การบริการขนส่ง และกลุ่มสถานบันเทิงอื่นๆ
การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 2.4% ชะลอลงจาก 3.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอลงของการใช้จ่ายกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และการใช้จ่ายกลุ่มไฟฟ้า แก๊ส และเชื้อเพลิงอื่น ๆ การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 3.5% ชะลอลงจาก 4.3% ตามการชะลอตัว ของการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่ง และการใช้จ่ายกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนลดลง 9.9% ต่อเนื่องจากการลดลง 7.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงจากระดับ 54.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 6.3% เร่งขึ้นจาก 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดขยายตัวในเกณฑ์สูง 36.9 % ค่าตอบแทนแรงงาน (เงินเดือน ค่าบำเหน็จบำนาญ) ขยายตัว 1.1% ขณะที่ค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 8.5% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 19.9% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 31.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 20.5% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
โดย 9 เดือนแรกของปี 2567การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 5.0% และการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.6% การลงทุนรวม ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.2% จากการลดลง 6.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 2.5% เทียบกับการลดลง 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 1.6% ต่อเนื่องจากการลดลง 8.1% ในไตรมาสก่อนหน้า
ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนหมวดยานยนต์โดยเฉพาะรถบรรทุกและยานพาหนะอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรฐานสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และการลงทุนในหมวดการก่อสร้างลดลง 6% เทียบกับการลดลง 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนจากความเข้มงวด
ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ปรับตัวลดลง การลงทุนภาครัฐ ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส 25.9% เทียบกับการลดลง 4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของ รัฐบาลกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 43.1% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 1.1% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 26.3% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 25.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 20.9% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวม 9 เดือนแรกของปี 2567การลงทุนรวมลดลง 1.7% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.4% และการลงทุนภาครัฐลดลง 2.3%
ด้านการค้าระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 77,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูง 8.9% ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร โดยปริมาณส่งออกขยายตัวในเกณฑ์สูง 7.5 %เทียบกับการขยายตัว 2.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคา ส่งออกเพิ่มขึ้น 1.3% กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว 25.2% ยาง 55.9% คอมพิวเตอร์ 146.5% ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 46.5% และอุปกรณ์สื่ อสาร
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของ GDP ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2568 ขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1. การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ 2. การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ 3.การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 4.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคขยายตัว 3% และการลงทุนภาคเอกชน 2.8% มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3-1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
1.การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย 1.1การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3% ต่อเนื่องจาก 4.8% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดีประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้ม การเพิ่มขึ้นของฐานรายได้ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร และ 1.2 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องจาก 1.7% ในปี 2567 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณประจำปี 2568 และงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี 2568
2.การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 3.9% เร่งตัวขึ้นจาก 0.2% มาจากการลงทุน ภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 0.5% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งเสริมการลงทุน และการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 6.5% เร่งขึ้นจาก 2.4% ในปี 2567 ตามกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2568 และรายจ่ายลงทุนเหลื่อมปี 2568 ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 27.5% และ 73.8% ตามลำดับ
3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ต่อเนื่องจาก 3.8% ในปี 2567 ตามแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการค้าโลก เมื่อรวมกับการส่งออกบริการซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้นส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2568 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 4.2% เทียบกับ 6.1% ในปี 2567
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า หลังนายโดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินของธนาคารโลกมีผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด