วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightPTTรุกหาพันธมิตรร่วมธุรกิจที่ไม่ชำนาญ ปี 2568 เดินหน้าลุยลงทุน “ธุรกิจต้นน้ำ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

PTTรุกหาพันธมิตรร่วมธุรกิจที่ไม่ชำนาญ ปี 2568 เดินหน้าลุยลงทุน “ธุรกิจต้นน้ำ”

“ปตท.” เร่งหาพันธมิตรทั่วโลก ร่วมลงทุนธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญ คาดได้ข้อสรุปปี 68 พร้อมถอยธุรกิจผลิตรถ EV เปิดทางพันธมิตรเป็นแกนหลัก มุ่งลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า พร้อมลุยลงทุนธุรกิจต้นน้ำ

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การดำเนินงานปี 2568 ถือเป็นความท้าทายอีกปีหนึ่งของปตท.จากหลายปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำ 3-4% ความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ (Geo politics)

ขณะนี้ปตท.กำลังทำรายละเอียดของแผนกลยุทธ์ โดยจะมุ่งโฟกัสไปที่ธุรกิจหลัก ซึ่งภายในเดือนธ.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปว่าจะมีการลงทุนอย่างไร ทั้งในปีหน้าและแผนการลงทุน 5 ปี ขณะเดียวกัน ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อหาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจจากทั่วโลก มาร่วมลงทุนกับ ปตท.ในแต่ละธุรกิจที่ไม่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในปี 2568 เช่น ธุรกิจยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ ของ บริษัทอินโนบิก (เอเชีย) ที่จำเป็นต้องมีพันธมิตรที่เข้าใจในธุรกิจมาร่วมดำเนินงาน

รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ ปตท.กำลังทบทวนเช่นกัน เพราะค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่ถล่มตลาด แม้ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้อย่าง Tesla ยังได้รับผลกระทบ โดยปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร เพื่อให้เป็น แกนหลักแทนปตท. เพราะเชี่ยวชาญมากกว่า สำหรับธุรกิจ EV ปตท.จะมุ่งเพิ่มศักยภาพของสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็นหลักมากกว่า

อนึ่งโครงการผลิต EV เป็นโครงการ ซึ่งบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ร่วมทุนและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) บริษัทย่อยของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) จากไต้หวัน ภายใต้บริษัท JV ชื่อ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) โดย Arun Plus ถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40% เพื่อสร้างโรงงานผลิตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย โดยขณะนี้โครงการนี้ยังไม่มีความคืบหน้า  

ดร.คงกระพัน ระบุอีกว่า ในปีหน้าธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้ดีคือ ธุรกิจต้นน้ำ ทั้งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ส่วน ธุรกิจปลายน้ำ เช่น ปิโตรเคมีถือว่ายังต้องเหนื่อย เนื่องจากกำลังการผลิตล้นตลาด ในส่วนของการพัฒนาปิโตรเลียมเป็นภารกิจของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติม ซึ่งธุรกิจก๊าซฯถือว่ายังเป็นพลังงานหลักที่ปตท.ให้ความสำคัญ เนื่องจากในช่วง 10-20 ปีของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนก๊าซฯยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีความจำเป็น

ดังนั้น ปตท.จึงให้ความสำคัญกับ การสำรวจผลิตและปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA ) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดย ปตท.สผ.มีการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปแข่งขันให้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้การที่ ปตท.สผ.มีการลงทุนแท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซฯในอ่าวไทยซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ทับซ้อน จะทำให้สามารถนำก๊าซฯขึ้นมาใช้ได้เร็วขึ้นภายใน 5-6 ปี และจะทำให้ได้ก๊าซฯที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG) จากต่างประเทศ ช่วยให้ค่าไฟฟ้าของประเทศอยู่ในระดับต่ำ และสร้างความมั่นคงทางพลังานให้กับประเทศ ส่วนการนำเข้า LNG ปตท.ก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะประเทศไทยใช้เป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงการ LNG HUB ของประเทศได้

ทั้งนี้การลงทุนของ ปตท.ในอนาคตนั้น ปตท.จะเร่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กันไป โครงการสำคัญ คือ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) โดยจะมุ่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม คาดว่าจะทำได้จริงในปี 2574 ซึ่งจะช้ากว่าไฮโดรเจน เพราะในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ และต้องมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐ เช่น สหรัฐที่สนับสนุนทางการเงินสำหรับการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 80 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน ขณะนี้ปตท.จึงอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับภาครัฐ  

อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรมในต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักในประเทศไทย เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในอนาคตตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2024) ที่กำหนดให้มีไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสัดส่วน 5%

ดร.คงกระพัน กล่าวถึงผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม 2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% โดยเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

ส่วนปัญหาของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ชุมนุมบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้รับเหมาหลักนั้น ดร.คงกระพัน กล่าวว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีทีมเข้าไปให้คำแนะนำ เพราะถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ซึ่งการก่อสร้างโรงงานจะต้องเดินหน้าต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img