วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightขีดความสามารถการแข่งขันดิจิทัลไทย ร่วงอยู่ที่ 37 รั้งอันดับ 3 ภูมิภาคอาเซียน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ขีดความสามารถการแข่งขันดิจิทัลไทย ร่วงอยู่ที่ 37 รั้งอันดับ 3 ภูมิภาคอาเซียน

TMA เปิดผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ไทยคว้าอันดับที่ 37 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว หลังปัจจัยด้านเทคโนโลยีลดลงมากถึง 8 อันดับ  

รายงานข่าวจากสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) แจ้งว่า ผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2567 ว่า  ปีนี้ไทยคว้าอันดับที่ 37 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ลดลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว สาเหตุหลักจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีอันดับลดลงค่อนข้างมาก 8 อันดับจากปี 2566

จากทั้งหมด 3 ปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการวิเคราะห์จัดอันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัลนั้น ด้านเทคโนโลยี (Technology) ยังคงเป็นปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 ปัจจัยหลัก แม้ว่าในปีนี้จะลดลงมาจากปีก่อนถึง 8 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 23

ในขณะที่ด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของประเทศได้ในระยะยาว ต่างขยับอันดับดีขึ้นเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 40 และ 41 ตามลำดับ แต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนัก ซึ่งไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งการพัฒนายกระดับใน 2 ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้หากเมื่อเปรียบเทียบเขตเศรษฐกิจในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับ ทั้งหมด 5 เขตเศรษฐกิจ ไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 แต่ที่น่าจับตามองคืออินโดนีเซีย แม้จะยังตามหลังมาเลเซียและไทย แต่มีแนวโน้มอันดับดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งผลการจัดอันดับรวม (IMD World Competitiveness Ranking) และผลการจัดอันดับด้านดิจิทัล (IMD World Competitiveness Ranking) ที่ขยับ  ดีขึ้น 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 43 ในปีนี้ จากอันดับของปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคตของอินโดนีเซียที่ดีขึ้นจากปีที่แล้วอย่างมากถึง 13 อันดับ มาอยู่อันดับ 30 ในขณะที่ฟิลิปปินส์ รั้งท้ายในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่อันดับ 61 ในปีนี้

 เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัลสูงที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2567 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นประเทศในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เป็นที่น่าสนใจว่า มีประเทศในทวีปเอเชียติดใน 10 อันดับแรกถึง 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ในส่วนของสหรัฐอเมริกา ที่อยู่อันดับ 1 ในปีที่แล้ว ลดลง 3 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 4 ในปีนี้ เป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์กับมหาอำนาจอีกประเทศอย่างจีน ต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีในตลาดโลก และภูมิทัศน์ด้านดิจิทัล (Digital landscape) ของประเทศ 

สำหรับประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้รับการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัลใน 10 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 สิงคโปร์ อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 เดนมาร์ก ตามมาด้วยอันดับ 4 สหรัฐอเมริกา อันดับ 5 สวีเดน อันดับ 6 เกาหลีใต้ อันดับ 7 ฮ่องกง อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 9 ไต้หวัน และอันดับ 10 นอร์เวย์

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “จากผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของไทย ที่ขยับอันดับลง 2 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 37 ซึ่งแม้ว่า 2 ปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความสามารถการแข่งขันดิจิทัลระยะยาวของไทย กล่าวคือ ด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ของไทย ต่างปรับอันดับดีขึ้นเล็กน้อย 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 40 และ 41 แต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก และจำเป็นต้องได้รับการยกระดับพัฒนาในแทบทุกปัจจัยย่อย

โดยปัจจัยด้านความรู้ ตัวชี้วัด Computer science education index ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในปีนี้ ไทยก็ยังมีขีดความสามารถในระดับปานกลาง ที่ควรให้ความสำคัญในการยกระดับศักยภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น และจากการพัฒนารุดหน้าของ AI ก็ทำให้ไทยต้องส่งเสริมพัฒนาการคิดค้นวิจัยด้าน AI ของไทยในเชิงพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงปรับปรุงพัฒนานโยบายและกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับ AI ให้เท่าทัน ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับอันดับดีขึ้นของ 2 ตัวชี้วัดใหม่ด้าน AI คือ AI articles และ AI policies passed into law ได้ในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ ไทยต้องเร่งให้ความสำคัญในการเพิ่มการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Scientific and technical employment) และยกระดับตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่ไทยมีอันดับค่อนข้างรั้งท้าย รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนในเรื่องของการปรับปรุงพัฒนานโยบายและกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี, การจดสิทธิบัตร, การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์, ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้ดีมากยิ่งขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img