“อนุทิน” ส่ง “มท.2- อธิบดีที่ดิน” แจงปมเขากระโดง “ทรงศักดิ์” ขอบคุณกมธ.ที่ดินให้โอกาสแจงทำประชาชนกระจ่าง โอด สงสารชาวบ้านกว่า 900 รายได้รับผลกระทบ ชี้แม้ศาลพิพากษาถึงที่สุด แต่ต้องพิสูจน์สิทธิเฉพาะคู่ความ ย้ำต้องเป็นธรรมกับประชาชน ด้าน“พูนศักดิ์” ยันพิจารณายึดข้อกฎหมายไม่โยงการเมือง
วันที่ 27 พ.ย.2567 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธานกมธ.ฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นข้อพิพาทที่ดินเข้ากระโดง ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กระทรวงคมนาคม กรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย โดยอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้มอบหมายให้นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้รฟท.เข้าชี้แจง
โดยก่อนการประชุม นายพูนศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การเชิญผู้ชี้แจงมาในวันนี้เป็นประเด็นเขากระโดง ซึ่งประชาชนให้ความสนใจ และกมธ.ฯ ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงกระบวนการที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาของกมธ.ฯ ถ้าเห็นว่ามีประเด็นน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขตัวประมวลกฎหมาย ควรจะต้องเร่งดำเนินการ
นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ รฟท.จะต้องดำเนินการต่อไม่ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งมีระเบียบของการอุทธรณ์ไว้อยู่ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จ ไม่ต้องการให้เรื่องนี้เงียบและหายไปกับสังคม ยืนยันว่าการประชุมของกมธ.ฯ จะเห็นภาพของที่มาที่ไป ของคณะกรรมการตามมาตรา 61 ถ้ากระบวนการจัดตั้งไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขระเบียบใหม่ และเชื่อว่าในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ การทุจริต ในการเพิกถอน และการออกเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นคณะกรรมาธิการชุดนี้จึงมีความสำคัญมาก ในการจัดการที่ดินของประเทศ และประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ
เมื่อถามว่าเรื่องนี้มีคนการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร นายพูนศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของการเมืองหรืออิทธิพล อาจมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เราอาจจะไม่ได้พิจารณาในการประชุมวันนี้ โดยหัวข้อหลักในการประชุมคือเรื่องของข้อกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ แต่หากมีช่องโหว่ใด ที่ได้รับอิทธิพลทางการเมือง ก็เป็นหน้าที่ ของคณะกรรมาธิการในการแก้ไขและปรับปรุง ข้อกฎหมาย
เมื่อถามว่าหากมีคนการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องจริงๆ จะสาวถึงเจ้าตัวหรือไม่ ประธานกมธ.ที่ดิน กล่าวว่า การประชุมกมธ.ฯ จะเน้นระเบียบวิธีปฏิบัติ ของคณะกรรมการมาตรา 61 มีข้อบกพร่องอย่างไร และหากมีข้อบกพร่อง กมธ.ฯ จะดำเนินอย่างไร ซึ่งเป็นงานหลักของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการดูว่าข้อกฎหมายช่องโหว่ระเบียบปฏิบัติของฝ่ายบริหารเป็นอย่างไร เพื่อนำมาแก้ไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นกมธ.ฯเริ่มในเวลา10.30 น.และหลังจากที่ประธานกมธ.ฯกล่าวเปิดการประชุมแล้วเสร็จ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวว่าในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ตนในฐานะได้มอบหมายให้กำกับดูแลกรมที่ดิน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่กมธ.ฯจะประชุมวันนี้ เรื่องเขากระโดงเป็นเรื่องที่สนใจจากประชาชน และประชาชนเองจะดูข้อมูลจากสื่อเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ความชัดเจนเท่าที่ควร และข้อมูลในวันนี้จะเป็นประโยชน์ทำให้กมธ.ฯได้มีข้อมูลในการที่จะประชุมหารือและสรุปประเด็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นประโยชน์กับการรถไฟฯ ซึ่งบอกว่าเป็นที่ของการรถไฟ จะได้เกิดความชัดเจน
“เรื่องเขากระโดง ไม่ได้กระทบกับสิทธิของคน คนเดียว กระทบทั้งส่วนราชการ ทั้งการรถไฟ และประชาชน ซึ่งผมเห็นตัวเลขก็รู้สึกเห็นใจ 900 กว่าราย ที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนก็เข้าใจว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟทั้งหมด แม้ให้กมธ.ฯ เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นทั้ง 2 ทาง ทั้งการได้ที่ดินมาของการรถไฟ และประชาชนได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดความชัดเจน แม้ว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ คนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ หากเพิกถอนทั้งหมด จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่
ทั้งนี้การประชุมกมธ.ฯไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ เพราะข้อมูลที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเป็นเพียงข้อมูลผิวเผิน สามารถหาอ่านได้ตามหน้าสื่อฯ ซึ่งการที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังเนื่องจากต้องการให้ทั้ง 2 หน่วยงานได้ชี้แจงข้อมูลอย่างเต็มที่