วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 5, 2024
spot_imgspot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเศรษฐกิจโตแต่ช้า โดนเพื่อนบ้านทิ้งห่าง
spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เศรษฐกิจโตแต่ช้า โดนเพื่อนบ้านทิ้งห่าง

จากการแถลงของ “สภาพัฒน์” ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 GDP ขยายตัวร้อยละ 3 แม้จะเกินความคาดหมายนิดหน่อย เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากนโยบายการคลังและภาคการส่งออก ซึ่งชดเชยการท่องเที่ยวที่หดตัวลง แต่อัตราดังกล่าวนี้ ก็ยังถือว่า ตํ่าสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

สำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP ในประเทศอาเซียนไตรมาส 3 ที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ เวียดนาม ร้อยละ 7.4, รองลงไปได้แก่ มาเลเซีย ร้อยละ 5.3, ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 5.2, อินโดนีเซีย ร้อยละ 4.9, สิงคโปร์ ร้อยละ 4.1 และสุดท้ายก็คือ ไทย ร้อยละ 3

หากย้อนดูตัวเลขอัตราการขยายตัวของปี 2566 ทั้งปี ปรากฏว่า ประเทศที่ GDP ขยายตัวมากสุดในกลุ่มอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 5.5, ตามด้วย อันดับ 2 เวียดนาม 5.0, อันดับ 3 อินโดนีเซีย 5.0 เช่นกัน, อันดับ 4 มาเลเซีย 3.6, อันดับ 5 ประเทศไทย 1.9 และอันดับ 6 ประเทศสิงคโปร์ ร้อยละ 1.1

จากตัวเลข GDP ในสองปีนี้ จะเห็นชัดเจนว่า การขยายตัวของไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ เช่นเดิม ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเดินตามหลังไทยต้อยๆ อย่างอินโดนีเซียในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังจะกลับมาผงาดอีกครั้ง เริ่มเห็นภาพชัดในยุคของ ประธนานาธิบดี “โจโก วีโดโด” เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากอัตราเพิ่ม GDP สูง 4-5 เปอร์เซ็นต์ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจฟิลิปปินส์กำลังฟื้นตัว สะท้อนจาก GDP ปี 2564 เพิ่มร้อยละ 5.7, ปี 2565 เพิ่ม ร้อยละ 7.6, ปี 2566 เพิ่มร้อยละ 5.5 และไตรมาส 3 ปีนี้ เพิ่มร้อยละ 5.2 อันที่จริง เศรษฐกิจฟิลิปปินส์เริ่มฟื้นตัวมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ในยุคของ ประธานนาธิบดี “เบนิโญ อากีโน” ที่วางจุดขายประเทศเป็น “แบ็คออฟฟิศของโลก” รับงานจากทั่วโลกสร้างงานในประเทศ

ส่วน มาเลเซีย ถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง แม้จะไม่หวือหวา ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ อัตราเพิ่มของ GDP จะอยู่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีสะดุดบ้างในช่วงโควิด ผลิตภัณฑ์มวลรวมล่าสุด 488,250 ล้านเหรียญ เป็นอันดับที่ 6 ของอาเซียน แต่รายได้ต่อหัวสูงถึง 14,423 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และบรูไนเท่านั้น

การที่มาเลเซียเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้นำประเทศอย่าง “ดร.มาหาธีร์ มูฮัมหมัด” มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูประเทศ อีกทั้งการครองอำนาจอย่างยาวนาน ทำให้ “นโยบาย” มีความต่อเนื่อง “การเมือง” มีเสถียรภาพ นักลงทุนเกิดความมั่นใจ

ส่วนดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดในห้วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่พ้น เวียดนาม ที่ GDP ประมาณการล่าสุด อยู่ที่ 506,426 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ รายได้ต่อหัวอยู่ที่ 4,985 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับ 6 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย

หากย้อนกลับไปราวๆ พ.ศ.2519 หรือเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ในห้วงเวลาที่เกิดสงครามเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ ตอนนั้นเวียดนามเป็นประเทศยากจนสุด เมื่อสงครามสิ้นสุด เวียดนามได้ใช้ความพยายามในการพัฒนาตนเองได้อย่างมหัศจรรย์ จนในสุดก็ขึ้นมาเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจ หรือ GDP รวม อันดับ 6 ของอาเซียน ซึ่งมี 5 เสือเรียงลำดับ ดังนี้ 1. อินโดนีเซีย 2.สิงคโปร์ 3.ไทย 4.ฟิลิปปินส์ และ 5.มาเลเซีย

น่าสนใจช่วงหลังโควิด ในปี 2564 GDP เวียดนามขยายร้อยละ 2.6 ในปี2565 ขยายตัวร้อยละ 8.1 และในปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 5 และในไตรมาส 3 ปีนี้ขยายตัวร้อยละ 7.4 ทำให้ตัวเลขรวมขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนแซงมาเลเซียได้สำเร็จเมื่อปี 2023 ไปเรียบร้อย

ทุกวันนี้ “เวียดนาม” ขึ้นมาหายใจรดต้นคอ “ไทย” แล้ว ล่าสุด ไอเอ็มเอฟ คาดไว้ว่า ปี 2025 GDP ของไทยจะอยู่ประมาณ 545,341 ล้านเหรียญ เวียดนามอยู่ประมาณ 507,670 ล้านเหรียญ กระทั่งมีบางคนออกมาฟันธงว่าเวียดนามจะแซงไทยได้ใน อีก 2-3 ปีข้างหน้า

ตบท้าย ด้วย สิงคโปร์ นั้น “จิ๋วแต่แจ๋ว” ได้ยกระดับขึ้นชั้นระดับโลกในเกือบทุกด้าน แม้เป็นประเทศเล็ก มีประชากรไม่ถึง 6 ล้านคน ซึ่งนับตั้งแต่แยกตัวออกจากมาเลเซีย มาเป็นประเทศใหม่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม อันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองก็แต่อินโดนีเซียเท่านั้น

ครั้นเมื่อหารด้วยจำนวนประชากรเพียงแค่ 5.9 ล้านคนเศษในปีนี้ 2024 สิงคโปร์จึงมีรายได้ต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน คือมีรายได้ต่อหัวถึง 89,372 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปีเลยทีเดียว

ย้อนกลับมามอง เศรษฐกิจไทย แม้ว่าไตรมาส 3 จะดูดีกว่าที่คิด แต่ทั้งนี้คาดว่า GDP ของไทยทั้งปี น่าจะต่ำกว่าร้อยละ 3 ล่าสุด “สภาพัฒน์” และ “แบงก์ชาติ” คาดการณ์เศรษฐกิจจะโตอยู่ที่ ร้อยละ 2.6 และ 2.7 เท่านั้น

ยิ่งตราบใดที่รัฐบาลยังใช้นโยบายประชานิยมแบบมักง่าย “อัดฉีด” หรือ “แจกเงิน” ซึ่งวิธีเพิ่ม GDP ด้วยการแจกเงิน จะได้ผลชั่วคราวแบบ “ไฟไหม้ฟาง” แทนที่จะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเร่งการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่ม GDP อย่างถาวร

ที่สำคัญ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยคงขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3 แน่ๆ เพราะยังมีความเสี่ยงมากมาย กวักมือรอเต็มไปหมด

………………………………

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img