‘ไวรัส’ ร้ายแรง 323 หลอด หายจากห้องแล็บ ในออสเตรเลีย ขณะที่ทางการรัฐควีนส์แลนด์ยืนยันว่า แม้ตัวอย่างเหล่านี้จะนำไปใช้ผลิตเป็นอาวุธชีวภาพได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค67 รัฐบาลออสเตรเลีย ออกคำสั่งให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า เป็นการละเมิดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพครั้งใหญ่ หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ออกมาเปิดเผยว่า หลอดบรรจุไวรัสชนิดร้ายแรงจำนวน 323 หลอดหายไปจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของหน่วยงานด้านสาธารณสุข
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 แต่มีการยืนยันในเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า ตัวอย่างเชื้อไวรัสหายไป หลังจากตู้แช่ไวรัสพัง
ล่าสุด รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ ได้ดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ทราบว่า ตัวอย่างเชื้อไวรัสที่หายไปนั้นถูกขโมย หรือถูกทำลายแล้วหรือไม่ และไม่พบหลักฐานว่าเกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า เชื้อไวรัสที่อันตรายเหล่านี้จะตายอย่างรวดเร็ว เมื่ออยู่นอกตู้แช่ และไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
แต่กระนั้น ทางการรัฐควีนส์แลนด์ยืนยันว่า แม้ตัวอย่างเหล่านี้จะนำไปใช้ผลิตเป็นอาวุธชีวภาพได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ
สำหรับเชื้อไวรัสที่หายไปประกอบด้วย ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus), ไวรัสลิสซา (Lyssavirus), และไวรัสฮันตา (Hantavirus)
‘ไวรัสเฮนดรา’ เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน และพบได้เฉพาะในออสเตรเลีย มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 57% ไวรัสนี้ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 หลังเกิดการระบาดในม้าแข่ง 21 ตัวและมนุษย์ 2 คน ที่เมืองเฮนดรา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมืองบริสเบน โดยข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวผลไม้
ส่วน ‘ไวรัสฮันตา’ เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ มีต้นกำเนิดในหนู และแพร่กระจายผ่านมูล ปัสสาวะ และน้ำลาย เมื่อมนุษย์ติดเชื้อ จะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสฮันตา ซึ่งอาการมักจะมีไข้, หนาวสั่น, คลื่นไส้, ท้องเสีย, และมีของเหลวอยู่ในปอด ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38%
ขณะที่ ‘ลิสซาไวรัส’ เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในแต่ละปี มีคนเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ประมาณ 59,000 คน