นายกฯ เห็นชอบดำเนินการโครงการเชื่อมสวนเบญจกิติ กับสวนลุมพินี เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่คนไทยภาคภูมิใจร่วมกัน
เมื่อวันที่ 24 พ.ค.64 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิตติ” กับสวนสาธารณะอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินการสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยสวนแห่งนี้ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นสวนสาธารณะใหม่ที่คนไทยภาคภูมิใจร่วมกัน เป็นปรากฏการณ์ของเมืองไทยใหม่ ที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ของคนไทยและคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และเป็นสวนสาธารณะที่ช่วยแก้ไขปัญหา PM2.5 ได้ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด เน้นให้มีการสร้างสีสันให้กรุงเทพมหานครด้วยดอกไม้ตามฤดูกาล ภายในสวนต้องเป็นแหล่งของการเรียนรู้ มีพื้นที่สำหรับเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นสถานที่เล่นดนตรีในสวน มีพื้นที่ให้กับสมาชิกครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาออกกำลังกายในพื้นที่ที่ควบคุมได้ รวมทั้งเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่ประชาชนทุกคนและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยและความสะอาดเป็นสำคัญด้วย
สำหรับมติที่ประชุมที่สำคัญคือ ที่ประชุมมีมติรับทราบการดำเนินโครงการสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ที่เป็นการดำเนินการภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2534 ในพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ โดยในปี 2547 ได้จัดสร้างสวนน้ำเนื้อที่ 130 ไร่เสร็จแล้ว และในปี 2559 ได้ดำเนินการจัดสร้างสวนป่า ระยะที่ 1 เนื้อที่ 61 ไร่เสร็จแล้วเช่นกัน และได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการแล้ว
สำหรับการจัดสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ 259 ไร่ ในปี 2563 กรมธนารักษ์ได้ขอความร่วมมือจากกองทัพบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ 259 ไร่ เพื่อให้การก่อสร้างสวนป่าแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดและสามารถจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นี้ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 พื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างกองทัพบกดำเนินการก่อสร้างโดยมีความคืบหน้าการก่อสร้าง พื้นที่ก่อสร้างที่ 1 ร้อยละ 70.18 พื้นที่ก่อสร้างที่ 2 ร้อยละ 15.40
นอกจากนี้ ยังรับทราบการดำเนินการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี ตามที่กรมธนารักษ์และกรุงเทพมหานคร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการงานปรับปรุงภูมิทัศน์ทางคนเดิน-ทางจักรยาน (สะพานเขียว) และการปรับปรุงสวนลุมพินี ในวาระครบรอบ 100 ปี โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการออกแบบการวิเคราะห์ข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่โครงการ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมรูปแบบให้สะพานเขียวดังกล่าวเชื่อมต่อระหว่างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินีได้อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 63/2564 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนสาธารณะอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร และเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการคือ นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงาน จำนวน 15 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ หัวหน้าส่วนราชการ/หน่วยงาน จำนวน 3 คน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยคณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ในการอำนวยการจัดสร้างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และสั่งการ บริหาร ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนงานการเชื่อมต่อระหว่างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการ จาก “โครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” และสวนสาธารณะอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร เป็น “การดำเนินโครงการเชื่อมสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี” โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครจัดทำรูปแบบสะพานเขียวเพิ่มเติม เพื่อให้มีการเชื่อมต่อระหว่างสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กับสวนลุมพินี พร้อมจัดทำรายละเอียดโครงการ แผนการดำเนินงาน และประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกับสำนักงบประมาณต่อไป