คืนวันก่อนวันที่ “รัฐบาลอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” จะแถลงผลงาน มีโอกาสได้นั่งในวงสนทนากับ “ซีอีโอ.บริษัทขนาดใหญ่” 2-3 บริษัท มี “ข้าราชการระดับสูง” ที่มีอนาคตไกล ประเด็นที่ในวงสนทนาพูดถึง แสดงความห่วงใยอนาคตประเทศไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
“ซีอีโอ.ท่านหนึ่ง” บอกว่า “ประเทศไทยเวลานี้น่าห่วง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เราไม่มีจุดแข็งอะไรเหลือเลย” เขาเล่าว่า “ไม่นานมานี้บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นรายหนึ่งเข้าพบปะพูดคุย บอกว่าหากประเทศไทยเป็นอย่างนี้ เขาคงย้ายโรงงานไปอยู่เวียดนาม”
ยังเล่าต่อว่า “ไม่นานมานี้ได้คุยกับข้าราชการจากสิงคโปร์ ชักชวนให้ไปลงทุนบ้านเขา บอกว่าจะให้สิทธิประโยชน์ทุกอย่าง ขอแค่เข้าลงทุนก็พอ” ซีอีโอ.ท่านนั้น ยังเล่าต่อว่า “ตอนที่คุย ถามเขาว่า ทำไมสิงคโปร์ยังต้องการโรงงานอุตสาหกรรม เพราะภาพที่คนทั่วไปมองสิงคโปร์ก้าวข้ามประเทศอุตสาหกรรมไปนานแล้ว” เขาบอกว่า “สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญเพราะอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเกือบ 29% ของจีดีพี.”
เขายังเล่าอีกว่า เวลาคุยไม่ได้มีความรู้สึกว่า คนที่คุยด้วยเป็นข้าราชการ นึกว่าเขาเป็นนักธุรกิจ มีลูกเล่นในการเจรจาต่อรองแพรวพราวไม่ให้ประเทศเขาเสียประผลประโยชน์แม้แต่นิดเดียว อยากเห็นข้าราชการไทย เป็นอย่างนี้บ้าง
ขณะที่ ข้าราชการที่อยู่ในวงสนทนา สารภาพว่า “ข้าราชการไทยที่มีคุณภาพจริงๆ มีอยู่น้อยมากๆ แต่การที่ข้าราชการสิงคโปร์มีคนเก่ง ต้องไปดูเงินเดือนของเขาสูง อันดับต้นๆ ของโลก จึงจูงใจให้คนเก่งมารับราชการ แต่ของเราเน้นปริมาณมีคนมากๆ เงินเดือนน้อย จึงได้คนไม่เก่ง แถมทำงานก็ไม่ประสานกัน แต่ละหน่วยงานมีอาณาจักรของตัวเอง”
ฟังเรื่องราวเพื่อนบ้านแล้ว วันรุ่งขึ้นย้อนกลับมาดูบ้านเราใน การแถลงนโยบาย “รัฐบาลอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” ยิ่งอดเป็นห่วงไม่ได้ สิ่งที่แถลงวันนั้น มีแต่นโยบายประชานิยมล้วนๆ เช่น ลดค่าไฟฟ้า เดินหน้าดิจิทัล วอลเล็ต ผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และโครงการบ้านเพื่อคนไทย แก้หนี้ครัวเรือน ส่งเสริมเด็กไทยเรียนนอก แต่ละโครงการที่แถลง ไม่มีรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร
อย่างเช่น นโยบายจะลดค่าไฟฟ้า ไม่บอกวิธีการขั้นตอน จะทำอย่างไร ไม่ใช่ทำอย่างที่เคยทำมา ใช้วิธีบีบหน่วยงานอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดค่าไฟฟ้า แต่ต้องแบกหนี้แทน ในที่สุดก็โยนภาระกลับมาที่ประชาชนเหมือนเดิม แต่ควรจะลดด้วยการเลิกการผูกขาด เลิกตั้งปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายทั้งที่ไม่ได้ใช้
โครงการดิจิทัล วอลเล็ต รัฐบาลยืนยันเดินหน้า แต่ไม่ได้ประเมินที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมาก-น้อยแค่ไหน แต่ดูจากตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่แล้ว แค่กะปริดกะปรอยเท่านั้น
โครงการบ้านเพื่อคนไทย ก็ปัดฝุ่นโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ล้มเหลวในอดีตปล่อยทิ้งร้างจำนวนมาก แต่นำปัดฝุ่นมาทำใหม่ใช้ที่ดินของการรถไฟในชื่อโครงการบ้านเพื่อคนไทย
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เคยเป็นโครงการสมัยพรรคไทยรักไทย ก็ถูกปัดฝุ่นมาใหม่ โดยไม่เคยประเมินว่า มันล้มเหลวหรือประสบผลสำเร็จ มาก-น้อยแค่ไหน คุ้มกับเงินภาษีที่ใช้หรือไม่ เด็กไทยที่เข้าร่วมโครงการ เรียนจบตามเป้าหมายกี่คน ต้องทิ้งระหว่างทางกี่คน คนที่จบได้กลับมาทำงานรับใช้ชาติกี่คน เรื่องนี้ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่ทำเท่ๆ
ทางที่ดีควรจะสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพราะมีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษา น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
“นายกฯอิ๊งค์” พูดถึงแต่เรื่องนโยบายปีหน้า แต่ไม่ได้พูดถึงนโยบาย 90 วันที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้ ทั้งที่ในความจริงพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศมาแล้ว 1 ปี 4 เดือน ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่า “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่เล่นแร่แปรธาตุไม่เหลือเค้าเดิม แถมยังไม่เป็นไปตามเป้า “นโยบายซอฟต์ พาวเวอร์” ที่ยังไม่ถึงไหน “ปฏิรูปภาษี” ที่ไม่อยู่ในนโยบายหาเสียง
จากการแถลงข่าวสะท้อนว่า พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลอิงค์ ยังยึดอยู่กับความสำเร็จนโยบายประชานิยมของไทยรักไทยในอดีต แต่มองด้านเดียว ไม่ได้มองความล้มเหลวที่มีไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็น….“หนี่งทุน-หนึ่งอำเภอ” จนต้องเลิกไป “โครงการจำนำข้าว” ที่มีการทุจริตอย่างมโหฬาร “โครงการรถยนต์คันแรก” ที่จุดแรกทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนพอกหางหมู กลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติจนทุกวันนี้
ที่สำคัญในการแถลงข่าว “แพทองธาร” ไม่มีเรื่องการหารายได้เข้ามา ไม่พูดถึงการจูงใจลงทุนจากต่างประเทศ การคุ้มครองธุรกิจไทยให้รอดพ้นทุนจีนอย่างไร ไม่พูดถึงปัญหาคอร์รัปชัน ไม่พูดถึงจะเลิกการผูกขาดโดยกลุ่มทุนอย่างไร มีแต่นโยบายที่ต้องใช้เงิน มีแต่รายจ่ายทั้งๆที่หนี้สาธารณะสูงเกือบชนเพดาน
ตลอด 3 เดือนของ “รัฐบาลอิงค์” ซึ่งในความเป็นจริงคือ 1 ปี 4 เดือนของพรรคเพื่อไทยที่บริหารประเทศ ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ต่ำกว่าความคาดหวังของประชาชน จึงต้องหยิบประชานิยมมาปะผุแก้เกมเศรษฐกิจเรียกศรัทธา
………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)