“พิชัย” ชงครม.อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 69-73 หวังลดการขาดดุลลงใน 4 ปีข้างหน้า-รักษาระดับการก่อหนี้ใหม่ไม่ให้ระดับหนี้สาธารณะเกิน 70% ต่อจีดีพี
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.พรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) จะเสนอแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 69-73 ให้ที่ประชุมอนุมัติ หลังจากผ่านความเห็นชอบจาคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการรักษาขนาดการขาดดุลลดลงใน 4 ปีข้างหน้า และกษาระดับการก่อหนี้ใหม่ไม่ให้ระดับหนี้สาธารณะเกิน 70% ต่อจีดีพี ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดทำแผนการคลังคือต้องการให้มีการใช้งบประมาณอย่างถูกต้อง เหมาะสมและรักษาสถานะการเงินการคลังให้มีความมั่นคง โดยมีการประเมินผ่านตัวชี้วัด 4-5 ตัว ไม่ให้เกินเกณฑ์ตามวินัยการเงินการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาไทยทำงบประมาณเกินดุลไว้มาก ดังนั้น แผนการคลังใน 4 ปีข้างหน้า ต้องแสดงให้เห็นว่าการขาดดุลเมื่อเทียบกับ GDP จะค่อยๆ ลดลง
ขณะเดียวกันจะต้องมีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณเพื่อไม่ทำให้ขนาดการขาดดุลเพิ่มขึ้น และทบทวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยรายจ่ายประจำให้ปรับลดลง เพื่อจัดสรรส่วนที่เกินดุลให้เป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานะการคลังของไทยมั่นคงขึ้น โดยการขับเคลื่อน 4 เครื่องจักรเศรษฐกิจ ได้แก่การท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออก ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งการทำงานเพื่อให้เครื่องจักรเศรษฐกิจเหล่านี้ขยายตัวได้ ผ่านการดำเนินนมาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย การเร่งรัดการลงทุนให้เกิดผลจริง ซึ่งเราต้องเตรียมพร้อมในสิ่งที่ยังขาดทั้งเรื่องที่ดิน และพลังงานสะอาด รวมทั้งการสนับสนุนกลไกเพิ่มรายได้จากภาคส่งออก
ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้รัฐบาล และนำมาจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยให้คนที่มีรายได้น้อย โดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ใช่การรัดเข็มขัด แต่ต้องเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ได้ โดยต้องเริ่มที่การสร้างความเชื่อมั่น เมื่อคนมั่นใจ ส่งออกดี การลงทุนก็จะตามเข้ามา
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 68 ภาครัฐมีภาระหนี้ที่ต้องชำระรวมทั้งสิ้น 299,000 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นเงิน 88,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 210,000 ล้านบาท ซึ่งภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ครบกำหนดจากการกู้ระยะสั้นช่วงโควิด โดยมีการออกตั๋วเงินคลังอายุ 3 ปี ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนแนวทางบริหาร สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทยอยครบกำหนด จากหนี้ระยะสั้นไปเป็นหนี้ระยะยาว ให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี จากปัจจุบันอายุเฉลี่ยหนี้เฉลี่ยของรัฐบาลอยู่ที่ 9 ปี 9 เดือน