วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
หน้าแรกHighlight“พริษฐ์”เข้าหารือกับทีมกฎหมาย“วันนอร์” มั่นใจทำประชามติ 2 ครั้งไม่เสี่ยงขัดรธน.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พริษฐ์”เข้าหารือกับทีมกฎหมาย“วันนอร์” มั่นใจทำประชามติ 2 ครั้งไม่เสี่ยงขัดรธน.

“พริษฐ์”ถกทีมกฎหมาย “วันนอร์” มั่นใจทำประชามติร่างรธน. 2 ครั้งไม่เสี่ยงขัด รธน. แนะเดินหน้าคู่ขนาน “ร่างกม.ประชามติ-แก้รธน.” ตั้ง ส.ส.ร. ในช่วง 180 วัน ยันหากทำได้ประชามติครั้งแรกเกิดช่วงครึ่งปีหลัง 2568

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.67

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือร่วมกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เพื่อชี้แจงแนวทางการทำประชามติ 2 ครั้ง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนประธานรัฐสภาจะดำเนินการวินิจฉัย ว่า การประชุมนี้ถือเป็นนัดสำคัญ ที่จะส่งผลต่อชะตากรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หลังจากที่ตนและพรรคประชาชนได้ยืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทางคณะกรรมการประสานงานฯได้เชิญตน ในฐานะผู้เสนอมาให้ข้อมูล และชี้แจงเพื่อให้คณะกรรมการทำความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าตกลงแล้ว จำนวนประชามติที่ต้องทำในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง เพราะเมื่อตอนต้นปีประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยไปแล้วว่าควรเป็น 3 ครั้ง แต่ในรอบนี้เรามีชุดข้อมูลและเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ที่ตนเชื่อว่า พอจะมีน้ำหนักในการโน้มน้าวให้ประธานรัฐสภาเชื่อว่า การทำประชามติ 2ครั้งเพียงพอมีมากขึ้น


“ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน และความเห็นอย่างเป็นทางการของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เคยส่งให้กับศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับศาลรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎรได้เข้าพบ ทั้งนี้ผู้ที่จะมาประชุมร่วมกันวันนี้ ก็จะได้ยืนยันว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ และคงต้องรอดูว่าหลังจากวันนี้แล้วจะทำความเห็นแบบไหนไปให้ประธานรัฐสภา คาดว่าจะได้รับคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการจากประธานรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้ ว่าเห็นตรงกับพวกเราหรือไม่ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ”นายพริษฐ์​กล่าว


ส่วนกรณีที่ประธานรัฐสภา กังวลว่า การทำประชามติ 2 ครั้งอาจจะเสี่ยงทำให้เสียของ ทำประชามติไม่ครบ นายพริษฐ์กล่าวว่า ตนขอเยืนยันว่าการทำประชามติ 2 ครั้งถือว่าครบ และได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่หากเราเดินตามแผนนี้ ก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาอยู่แล้ว ที่อาจจะยื่นให้มีการวินิจฉัยได้ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ระยะเวลาเสียหายไป หากลองคำนวณดู ถ้าเดินตามแผนเดิมที่จะทำประชามติ 3 ครั้ง ในห้วงรอเวลา 180 วัน ที่สภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามความเห็นเดิม ก็ยังขยับอะไรไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นถ้าเราจะพยายามขยับมาใช้เส้นทางนี้ในการทำประชามติ 2ครั้ง หากบรรจุเข้าระเบียบวาระได้ผ่านวาระ 1, 2 และ3 ไปได้ แม้สมาชิกบางคนจะใช้สิทธิ์ในการร้องตีความทุกอย่างก็สามารถทำได้ภายในกรอบระยะเวลา 180 วัน ไม่ได้ทำให้เราเสียเวลาไปมากกว่าเดิม และยังยืนยันว่าเส้นทางการทำประชามติ 2 ครั้ง สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ


“กรอบเวลาว่าหากประธานรัฐสภาเห็นว่าการทำประชามติ 2 ครั้งไปได้ ก็จะบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยตั้งธงว่าน่าจะเสร็จ 3 วาระ ภายใน 180วัน ซึ่งจะประจวบเหมาะกันในครึ่งหลังของปี 2568 ก็จะสามารถจัดทำประชามติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกได้ ซึ่งก็หวังว่าจะเป็นการทำประชามติในครั้งแรกจาก 2 ครั้ง ไม่ใช่จาก 3ครั้ง และผมตั้งเป้าว่าในการพิจารณาร่างทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะมีการร้องว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็น่าจะจบภายใน 180วัน เท่ากับเวลาที่จะต้องรอ ร่างพ.ร.บ. ประชามติอยู่แล้ว”นายพริษฐ์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img