วันพุธ, ธันวาคม 25, 2024
หน้าแรกNEWS‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ร่ายยาวยัน ‘นายกฯ แพทองธาร’ มีอำนาจเต็มแต่กลับเงียบกริบ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ร่ายยาวยัน ‘นายกฯ แพทองธาร’ มีอำนาจเต็มแต่กลับเงียบกริบ

‘เท้ง ณัฐพงษ์’ ร่ายยาวยัน ‘นายกฯ แพทองธาร’ มีอำนาจเต็มแต่กลับเงียบกริบ ปมรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน ไล่ยุบสภา! ถ้าโบ้ยไม่สามารถทำได้ ยกโพสต์หาเสียง ‘เพื่อไทย’ ระเบียบสมัย ‘ประยุทธ์’ ยกเลิกได้ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐ ลั่น ปฎิเสธเสียงวิจารณ์ไม่ได้ ‘พ่อนายกฯ’ ตีกอล์ฟกับ CEO ทุนพลังงาน

วันที่ 24 ธ.ค. 67 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวถึงกรณีการยกเลิกรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ที่พรรคเห็นว่าเป็นการเอื้อทุนพลังงาน และการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการยกเลิกการจัดซื้อดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการแถลงข่าวครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจน ต่อตัวนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม แต่กลับไม่ใช้ และมีทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า แต่กลับไม่ทำ ซึ่งพรรคประชาชนมองว่าปัญหาเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ แต่นายกรัฐมนตรีกลับเงียบกริบ

นายณัฐพงษ์ โชว์แผ่นข้อความโพสต์ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 66 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ที่แสดงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 5,200 เมกะวัตต์ ที่ริเริ่มในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี โดยล็อต 3,600 เมกะวัตต์ในการแถลงครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนในยุคพลเอกประยุทธ์ โดยตรง ซึ่งมี 3 หัวข้อดังนี้

เรื่องแรก คือ พรรคประชาชนอยากมาให้ข้อเท็จจริง เพื่อลบข้อบิดเบือนที่นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลปัดความรับผิดชอบ ที่อ้างว่า นายกฯ ไม่มีอำนาจเต็มในเรื่องนี้ ซึ่งตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กพช. เป็นผู้กำหนดรับซื้อ และกำหนดราคาในการรับซื้อ โดยใช้วิธีการคัดเลือก ไม่ใช่ประมูล และราคาในการรับซื้อ มีการล็อคไว้ถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2573 ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราตั้งคำถามว่าเป็นกระบวนการที่ปราศจากความโปร่งใส ขาดการแข่งขัน และอาจทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอีก 25 ข้างหน้า

เรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ตอบปรากฎเป็นบันทึกการประชุมสภาฯ ว่า ท่านเองก็ไม่เห็นด้วยจากกระบวนการดังกล่าว ตนจึงอยากจะย้ำประเด็นที่บอกว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายกับคณะกรรมการ กพช.นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะโครงการนี้ริเริ่มจากสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ การจะยกเลิกได้ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของรัฐ ผ่านการออกมติ กพช. ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่สามารถทำได้ในการยกเลิกกระบวนการดังกล่าว

ส่วนความจำเป็นเร่งด่วน ที่ กพช.ออกประกาศเดินหน้าซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเส้นตายเพียงแค่ 14 วัน คือภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ หากไม่ยกเลิกแล้ว เราจะไม่สามารถยกเลิกกระบวนการนี้ได้อีก ซึ่งตามระเบียบการรับซื้อของ กพช. ในข้อที่ 8 (2) มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กพช. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกก่อนการลงนามในสัญญา นั่นหมายความว่าสามารถยกเลิกได้หากยังไม่มีการลงนามร่วมกัน และเหตุผลที่สามารถยกเลิกได้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่ กพช. เป็นผู้กำหนด

ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรีจะอ้างว่า ไม่สามารถควบคุมสภาพเสียงข้างมากใน กพช.เพื่อผ่านเป็นมติได้ รัฐบาลควรจะยุบสภาฯ เพราะองค์ประกอบ กพช. ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 19 คน โดย 14 ใน 19 คน คือคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งมาโดยตรง หากนายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนว่า ประสงค์จะยกเลิกกระบวนการนี้ ท่านก็สามารถทำได้ แต่หากทำไม่ได้โดยอ้างว่าไม่สามารถคุมสภาพเสียงไว้ได้นั้น ก็แปลว่าท่านบริหารคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ก็สมควรจะยุบสภาฯ และออกและบอกกับประชาชนว่า ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่คณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งมาด้วยตัวเองไม่เห็นชอบ ตนจึงเชื่อว่า ประเด็นนี้คนไทยอยากฟังคำตอบว่า นายกมีอำนาจเต็มแต่ไม่ได้ใช้ และมีแนวดำเนินอย่างไรต่อไป

เรื่องต่อมา คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของประเทศ พรรคประชาชนเห็นด้วยอย่างยิ่ง และพร้อมให้การสนับสนุนที่จะทำให้ประเทศไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้นในอนาคต ที่ออกมาบอกว่ากระบวนการนี้ดีแล้ว ทำไมพรรคประชาชนต้องออกมาคัดค้าน ซึ่งตนอยากให้ความชัดเจนว่า เราไม่ได้คัดค้านการไปเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เพียงแต่มีกระบวนการที่ดีกว่า และกระบวนการที่ถูกกว่า และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ในการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว คือรัฐบาลมีช่องทางที่ดี และถูกกว่านี้ได้ แต่กลับไม่เลือกทำ เนื่องจากการรับซื้อพลังงาน มีการผูกสัญญาสัมปทานถึง 25 ปี และใช้วิธีการคัดเลือกปราศจากความโปร่งใส และอาจจะส่งผลให้คนไทยจ่ายค่าไฟแพงเกินจริงถึง 1 แสนล้านบาทใน 25 ปีข้างหน้า

นายณัฐพงษ์ เสนอทางเลือกที่ดีกว่า 2 ข้อ และอยากได้ความชัดเจนจากนายกรัฐมนตรี ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร คือ 1. การเพิ่มโควตาการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้ากับโรงงานผู้ผลิตสินค้า หรือผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาด ซึ่งตามแนวนโยบายของรัฐ ได้ให้โควตาอยู่ที่ 2,000 เมกะวัตต์ ถ้ารัฐบาล ต้องการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด รัฐบาลมีช่องทางเพิ่มโควตาได้โดยตรง ที่ไม่มีการผูกมัดที่ต้องให้ประชาชนรับผิดชอบร่วมกัน เพราะเป็นการตกลงโดยตรงระหว่างผู้ขายไฟฟ้า กับผู้ซื้อที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

อีกทั้ง หากรัฐบาลต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในครัวเรือนหรือใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ในปัจจุบันเรามีโควตาการรับซื้อโซล่ารูฟท็อป ซึ่งการไฟฟ้าไม่สามารถรับซื้อได้อีก และรัฐบาลสามารถเพิ่มโควตาการรับซื้อจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้มากขึ้นมากกว่า 90 เมกะวัตต์ได้

นายณัฐพงษ์ ย้ำว่า พรรคประชาชนไม่ได้ต่อต้าน หรือเห็นค้าน แต่เราสนับสนุนในการใช้พลังงานสะอาดในช่องทางที่ดีกว่าการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนด้วยกระบวนการคัดเลือกมากกว่าการเปิดประมูล มาเป็นไดเร็ค PPA เป็นการเพิ่มโควตาโซล่าร์รูฟท็อปเพื่อให้กับพี่น้องประชาชน และเกิดประโยชน์กับคนส่วนมากสูงกว่า

ทั้งนี้ นายกมนตรีได้แถลงไว้บนผลงาน 90 วัน ว่าจะทลายทุนผูกขาด แต่สิ่งที่พวกเราเห็นทิศทางการดำเนินการนโยบายไฟฟ้าที่เป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และเป็นปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน แต่รัฐบาลกลับไม่ออกมาให้ความชัดเจน สิ่งที่ตนอยากได้ความชัดเจน และเกี่ยวข้องกับประเทศในระยะยาว ที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้าและการทลายทุนผูกขาดในประเทศ คือการเปลี่ยนไปสู่ระบบสมาร์ทบิด เพื่อให้ไฟฟ้าเข้าสู่ทุกครัว ประชาชนสามารถต้ดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เข้ามาสู่ตลาดของผู้ใช้ไฟฟ้า ผ่านกลไกการรับซื้อไฟฟ้าที่เป็นตลาดเสรี ไม่ต้องมีใครมากำหนดราคาตายตัว และไม่ต้องมีใครมาผูกขาดราคา

“สิ่งที่ผมอยากได้ยิน คือวิสัยทัศน์ และแนวการดำเนินนโยบายของรัฐ ซึ่ง กพช. มีอำนาจเต็ม นายกฯ เป็นประธาน มีอำนาจเต็มที่จะกำหนดแนวนโยบายของรัฐที่จะกำหนดแนวธุรกิจพลังงานในอนาคตได้ ว่ารัฐบาลเพื่อไทยเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะผลักดันในเรื่องระบบสมาร์ทบิด และเปิดเสรีการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดในประเทศ“ นายณัฐพงษ์กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งต่างๆ ที่ตน และสังคมกำลังตั้งคำถาม ที่ปฏิเสธไม่ได้ตามภาพข่าวที่ผ่านมา คือเราพบว่า พ่อของนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร มีการออกไปตีกอล์ฟกับกลุ่ม CEO ธุรกิจพลังงาน เป็นสิ่งที่พวกเราอยากจะได้ความชัดเจน ว่าค่าไฟแพงไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องของกลไกเชื้อเพลิงต่างประเทศ ที่รัฐบาลคุมไม่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากกว่า คือการผูกขาด และแนวนโยบายของรัฐที่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการใช้อำนาจนั้น ผ่านคณะกรรมการ กพช.

“วันนี้พวกเราอยากยืนยันว่า นายกฯมีอำนาจเต็มแต่ไม่ใช้ รัฐบาลมีทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่าสำหรับพ่อแม่พี่น้องประชาชน แต่ไม่ทำ และเรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ แต่นายกฯ เงียบกริบไม่เคยตอบ เลี่ยงไปพูดประเด็นอื่นๆ“

นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราอยากให้รัฐบาลดำเนินการต่างๆ นอกจากการยกเลิกการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ทันที และในฐานะผู้นำฝ่านค้าน ตนอยากให้นายกฯ แสดงความรับผิดชอบในสภาฯ เพื่อเข้ามาโต้ตอบ และแสดงเหตุผลร่วมกันในสภาฯ หากนายกฯ มาตอบก็จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และพรรคประชาชนพร้อมจะส่งตัวแทนขึ้นไปดีเบตกับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารทั่วหน้า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับพ่อแม่พี่น้องประชาชน

จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า กกพ.เปรียบเสมือนองค์กรอิสระไม่สามารถแทรกแซงได้ รัฐบาลจะดำเนินการได้อย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า กกพ. ดำเนินการด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่มีมติ กพช.กำกับ ดังนั้นหากยกเลิกก็สามารถยกเลิกได้โดยอาศัยมติ กพช. เช่นเดียวกัน พูดอีกมุมหนึ่ง กกพ. จะไปยกเลิกก็ไม่ได้ ผิดแนวนโยบายของรัฐที่ กพช.เป็นผู้กำหนด ซึ่งหากกลัวว่าถ้ารัฐบาลยกเลิก จะเกิดการฟ้องร้องหรือไม่ เรื่องนี้ ตามระเบียบการรับซื้อของ กกพ. เขียนไว้ชัดเจนว่า กกพ.ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกโครงการดังกล่าวตั้งแต่ก่อนลงนามสัญญา และสามารถยกเลิกได้หากมีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายของรัฐที่ต้องอาศัยมติ กพช. ออกมา

เมื่อถามว่าในเมื่อชุดข้อมูลฝ่ายค้านไม่ตรงกับรัฐบาล จะมีโอกาสไปพูดคุยกันหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าเป็นวิธีที่เร็วที่สุดและไม่ต้องใช้เอกสารในการโต้ตอบคือการพูดคุยกัน จะผ่านกระทู้ถามสดในสภา หรือขึ้นเวทีดีเบต เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้แสดงเหตุผลของตัวเอง และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนหากสุดท้ายแล้วรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจยับยั้งสัมปทานนี้ได้ ฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรต่อ นายณัฐพงษ์ ระบุว่า ตนต้องยืนยันก่อนว่า รัฐบาลมีอำนาจ แต่ถ้าไม่ยอมดำเนินการ แปลว่าจงใจที่จะไม่ยอมยกเลิกกระบวนการดังกล่าว ในฐานะพรรคฝ่ายค้านพวกเราพร้อมใช้ทุกเวทีไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการ รวมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น ยังพอมีเวลาที่นายกรัฐมนตรีสามารถแก้ไขปัญหาได้

เมื่อถามว่า หากไม่แก้ไขปัญหาถือว่ามีความผิดไปด้วยหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่าในมุมหนึ่งก็ คิดว่ามีความผิดต่อประชาชน เพราะที่พวกเราศึกษามาเป็นอย่างดี ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี กระบวนการนี้ ถ้าปล่อยให้เดินหน้าต่อ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน การเดินหน้าต่ออาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดต่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img