วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 26, 2024
หน้าแรกHighlightศก.โลกฟื้นดัน“ส่งออก”พ.ย.ขยายตัว8% คาด“มูลค่าทั้งปี”ทะลุ 10 ล้านล้านบาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศก.โลกฟื้นดัน“ส่งออก”พ.ย.ขยายตัว8% คาด“มูลค่าทั้งปี”ทะลุ 10 ล้านล้านบาท

“พูนพงษ์” เผยตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย.แตะ 849,069 ล้านบาท ขยายตัว 8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แรงหนุนจากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี คาดทั้งปีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงตัวเลขส่งออกในเดือนพ.ย.ว่า มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (849,069 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 8.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 การนำเข้าพ.ย. มีมูลค่า 25,832.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.9 ดุลการค้า ขาดดุล 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก

ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร ในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้ การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.9

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.1 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และตุรกี) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นสหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้)

ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 44.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฮ่องกง) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 18.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย มาเลเซีย อิตาลี และไต้หวัน) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 24.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัวร้อยละ 20.6 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น แคนาดา และฝรั่งเศส แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้ แคเมอรูน และแองโกลา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 6.3 หดตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ อินเดีย เวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 23.3 หดตัวต่อเนื่อง11 เดือน (หดตัวในตลาดกัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี แคนาดา และศรีลังกา) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 8.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดเมียนมา จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย)ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.7

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.5 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 40.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 4.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม เม็กซิโก และอินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 24.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย)
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 16.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 24.3 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี อินเดีย และเวียดนาม) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 13.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดเม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน มาเลเซีย และสาธาณรัฐเช็ก)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.3 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอาร์เจนตินา แต่ขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ กัมพูชา ไต้หวัน และบราซิล) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 71.5 หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และสาธารณเช็ก แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.5

อย่างไรก็ตาม การส่งออกปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่ากว่า10 ล้านล้านบาท สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ สำหรับแนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตลอดจนความ

ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img