วันศุกร์, ธันวาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“BAFS” กับกิจการที่ก็ต้องกระจายธุรกิจ ลดความเสี่ยง!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“BAFS” กับกิจการที่ก็ต้องกระจายธุรกิจ ลดความเสี่ยง!!

ตอนนี้การทำธุรกิจเดียว คงจะไม่รอดเป็นแน่ และก็ไม่จำเป็นว่า ใครอยู่วงการไหน ต้องเกาะวงการนั้นตลอดไป ข้ามสายกันกันไปมาได้ ไม่มีข้อยกเว้น และไม่ทำคนเดียวด้วย ต้องหาพันธมิตรมาจับกันไป อย่าง บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ใครๆ ก็ทราบดีว่า มีประสบการณ์การให้บริการน้ำมันอากาศยานแบบครบวงจรมากว่า 40 ปี ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ สมุย สุโขทัย และตราด อนาคตที่จะไปในทิศทางของ อุตสาหกรรมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) เป็นเรื่องปกติ แต่ใช่ว่าเขาจะอยู่ในธุรกิจนี้ตลอดไป

ตอนนี้วางเป้าหมายไว้แล้วว่าปี 2572 จะมีสัดส่วนรายได้จากการเติมน้ำมันเครื่องบิน 50% ขนส่งทางท่อและโรงไฟฟ้า 40% และ 10% เริ่มเข้ามาจับ Digital Solution มากขึ้นเพื่อนำงาน IT มาต่อยอดงานบริการลูกค้า ให้มีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันที่ธุรกิจเติมน้ำมันเครื่องบิน 70% อีก 30% เป็นขนส่งทางท่อและโรงไฟฟ้า และอีกหน่อยจะกระจายธุรกิจออกไปอีกไกลกว่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจไหนช่วงขาลงก็ยังมีอีกธุรกิจหนุนอยู่เป็นต้น

และแน่นอนพันธมิตรต้องมาซึ่ง BAFS ก็ถนัดในการจับมือกับพันธมิตรมาตั้งแต่แรก เริ่มด้วยเนเจอร์ของการลงทุนท่อและระบบขนส่งน้ำมัน ที่ต้องเกาะกับหลายบริษัทอยู่แล้ว ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมัน อย่างโครงการใหญ่ล่าสุดที่ BAFS ไปจับมือกับ บริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก หรือ OR ในงานระบบบริการนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยาน ณ สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น หรือไปจับมือกับ กลุ่มบางจาก-กลุ่มมิตรผล-บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) พัฒนาโครงการผลิตน้ำมัน SAF เป็นต้น

ในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็เช่นกัน BAFS ก็ลงมาเล่นในธุรกิจนี้กับเขาด้วยโดยจับมือกับ บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในไทย รวมถึงต่างประเทศ อาทิ มองโกเลีย ที่กำลังเข้าไปทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นั้น

ส่วน ธุรกิจ Data Center ก็เข้ามาด้วย โดยไม่ยอมตกขบวน เข้าไปจับกับพันธมิตรระดับบิ๊กอย่าง กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ด้วยเหมือนกัน เพราะมีการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานในสายเดียวกัน คาดจะสามารถสรุปดิลได้กลางปี 2568 

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS บอกว่า “อย่างธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาทำ ก็เพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจหลักของเรา คือเติมน้ำมันเครื่องบิน เพราะในช่วงโควิด-19 ที่การเดินทางซบเซาย อดการเติมน้ำมันอากาศยานลดฮวบลงไปมาก ตอนนี้ยังเด้งกลับมาไม่แตะที่เดิมปี 2568 ถึงจะเด้งกลับมาใกล้ปี 2562 ที่ระดับ 6,300 ล้านลิตร ปีนี้ยังอยู่ที่ 5,000 ล้านลิตร ขณะที่โรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้สม่ำเสมอ และเป็นเรื่องทิศทางของไฟฟ้าสีเขียว ลดโรงไฟฟ้าฟอสซิล ที่นานาประเทศต้องการคนมาทำให้”

เขา บอกอีกว่า “ตอนนี้เริ่มทำธุรกิจผลิตรถใช้ไฟฟ้าเฉพาะทางด้วย รองรับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ รถเติมน้ำมันอากาศยาน รถดับเพลิง รถดูดฝุ่น แม้แต่รถพยาบาล” ซึ่งเขาบอกว่า BAFS เป็นรถที่มีความต้องการเฉพาะเราสามารถแข่งขันกับจีนที่ถนัดผลิตแบบแมสมากกว่า  

ขณะเดียวกันยังกำลังติดตามทิศทางของการพัฒนาโดรนรับส่งผู้โดยสารแบบวีไอพีระหว่างสนามบิน ลดเวลาการเดินทาง ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาให้มีผู้โดยสารนั่งได้ 2 คน ต่อไปจะเป็นแบบ 8 คน ซึ่งบางประเทศเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่ไทยอาจจะต้องใช้เวลาหน่อยในเรื่องกฎหมายรองรับ แต่อะไรที่ว่าเป็นไปไม่ได้ ยุคนี้เป็นไปได้แน่

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันอากาศยาน ที่ยังเป็นธุรกิจหลัก BAFS ยังมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปสู่การเป็นฮับของอุตสาหกรรมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF)

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ บอกว่า ผู้ประกอบการต้องการความชัดเจนของนโยบายเท่านั้น เอกชนพร้อมลงทุน ตอนนี้แผนบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567-2580 (Oil Plan 2024) ภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ยังปรับกันอยู่เลย

ทั้งนี้ตามร่างแผน Oil Plan ที่ได้รับฟังความเห็นไปนั้น ตั้งเป้าหมายนำ นํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil : UCO) นํ้ามันปาล์มดิบ โดยจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acids หรือ HEFA ผสมในนํ้ามันเครื่องบินสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571 และหลังจากนั้น ปี 2573 จะได้ SAF จากเทคโนโลยี Alcohol to Jet หรือ AtJ ที่ผลิตจากเอทานอลมาเสริม ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผสม SAF เพิ่มขึ้นที่สัดส่วน 3% ในปี 2576 เพิ่มเป็น 5% และจะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2579 เป็นต้นไป

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ มองว่า ประเทศไทยเป็น SAF HUB ได้ เพราะเรามีวัตถุดิบมากมายไม่เหมือนประเทศอื่น ซึ่งการพัฒนา Step 1 เป็น HEFA ก่อน Step 2 เป็น AtJ พอเข้า Step 3 จะเป็นการนำพืชอื่นมาทำ ซึ่งนอกจากปาล์มแล้ว ก็มีกะลามะพร้าว ต้นปอ และต้นหยีน้ำ ขอแนะนำให้ภาครัฐลองพิจารณาส่งเสริม

เราไปดูว่า ต้นหยีน้ำเป็นยังไง ต้นหยีน้ำ เรียกอีกอย่างว่า หยีทะเล (Pongamia Pinnata) เป็นพื้นท้องถิ่นของเอเชีย ในไทยพบมากตามป่าชายเลนทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก เป็นพืชพลังงานที่กำลังมีการส่งเสริมปลูก ที่อินเดีย และออสเตรเลีย ในอินเดีย เป็นพืชน้ำมันที่ปลูกมากเป็นอันดับ 2 รองจากสบู่ดำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การที่ต้นหยีน้ำได้รับความสนใจ นอกจากให้น้ำมันสูงแล้ว ยังโตเร็ว มีคุณสมบัติที่ทนแล้ง ทนดินเค็ม เป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ช่วยลดการใช้ปุ๋ย และน้ำมันยังมีองค์ประกอบของกรดไขมันสามารถผลิตไบโอดีเซลได้ และกากเมล็ดใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ได้ ให้ผลผลิตน้ำมันต่อไร่ใกล้เคียงปาล์มน้ำมัน แต่กากมีโปรตีนสูงกว่ากากปาล์ม 3 เท่า ต้นหยีน้ำมีคุณสมบัติต้านทานแมลงและเชื้อรา สามารถเป็นแหล่งทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ ใบและฝักของหยีน้ำมีไนโตรเจนสูง เมื่อร่วง สามารถเป็นปุ๋ยให้หญ้าอาหารสัตว์ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจต้องไปดูหน่อยว่าสามารถส่งเสริมได้หรือไม่ เพื่อเป็นอีกทางรอดของเกษตรกร ขอเพียงให้นโยบายชัดเจนแบบยาวๆ พอไม่ใช่ส่งเสริมปลูกในยุคหนึ่ง พอเปลี่ยนยุคก็ซบเซา เกษตรกรลงทุนเก้อกันมาแล้ว อย่างหญ้าเนเปียร์ เป็นต้น

สำหรับ การผลักดันระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งกำลังถูกจับตาว่า นโยบายไม่เข้าตา “พรรคใหญ่”

นโยบายของเขาที่จะสร้างสร้างคลังสำรองน้ำมัน ที่มีรัฐเป็นเจ้าของ เพื่อนำสำรองมาใช้บริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้ผันผวนนั้น ม.ล.ณัฐสิทธิ์ มองว่า “การสำรองน้ำมันของประเทศ ต้องมองรวมไปถึงที่ภาคเอกชนสำรองด้วย อย่างของ  BAFS เองมีคลังน้ำมันเครื่องบินสำรอง 4 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ คลังที่ดอนเมืองจัดเก็บน้ำมันได้สูงสุด 66 ล้านลิตร คลังสุวรรณภูมิ 115.8 ล้านลิตร คลังพิจิตร 73 ล้านลิตร”

เขา บอกว่า โครงการสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกิจการน้ำมันของประเทศ คือโครงข่ายท่อขนส่งน้ำมันที่เชื่อมโยงกัน อย่างโครงการล่าสุดของ BAFS  คือการต่อเชื่อมระบบท่อส่งน้ำมัน โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันสระบุรี-อ่างทอง เข้ากับระบบคลังน้ำมันสระบุรีของ Thappline เพื่อขยายระบบขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ระยะที่ 3 เส้นทาง คลังน้ำมันสระบุรี-สถานีแยกระบบท่ออ่างทอง ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร เป็นส่วนต่อขยายจากท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 1 จากคลังน้ำมันบางปะอินไปยังกำแพงเพชร-คลังน้ำมันพิจิตร และระยะที่ 2 กำแพงเพชร-คลังน้ำมันนครลำปาง ช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมัน จากโรงกลั่นน้ำมันศรีราชาและโรงกลั่นน้ำมันมาบตาพุดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกไปยังเขตพื้นที่ภาคเหนือ ผ่านระบบท่อส่งใต้ดินทดแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกน้ำมันช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากการขนส่ง ลดอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการขับขี่ระยะไกลซึ่งไทย ซึ่งโครงการนี้มีแผนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2569

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย….”ศรัญญา ทองทับ ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img