ภายหลังเหตุการณ์เสียชีวิตของ “แบงค์ เลสเตอร์” แร็ปเปอร์ยอดกตัญญู แม้ตอนนี้จะยังไม่ชัดเจน ใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ
1.สาเหตุการตาย เพราะเกิดจากการดื่มสุราหมดแบนรวดเดียวหรือไม่
2.มีการจ้างวานด้วยเงิน 30,000 บาท เพื่อถ่ายทำคอนเทนต์หรือไม่ โดยฝ่ายที่จัดงาน พยายามออกมาปฏิเสธแล้ว
แต่สังคมก็คาใจกับโพสต์ของ “เต้ บ้านสวน” ที่โพสต์ภาพขณะ “แบงค์ เลสเตอร์” ดื่มเหล้า กับข้อความว่า “3 หมื่นมันพอค่ารักษาตับป่าววะ”
ขณะเดียวกัน ในสื่อสังคมออนไลน์มี การรณรงค์ต่อต้านการทำคอนเทนต์เชิงกลั่นแกล้งผู้อื่น
เริ่มจากเพจ “ปลั๊กไทย by มหาชะนี” บอกว่า จุดเริ่มต้นของ “แบงค์ เลสเตอร์” เริ่มจากกลุ่ม “อินฟลูแอนเซอร์” บางกลุ่ม จับเอา “แบงค์” มาเล่น ที่เค้าเรียกว่า “human zoo” ด้วยการกลั่นแกล้งทุกอย่าง
แล้วก็อ้างว่า ช่วยน้องมัน น้องมันได้เงิน ซึ่งในความเป็นแบงค์เอง น้องมันอยากเข้าวงการอินฟลูอยู่แล้ว ก็อยากเกาะๆ พี่คนดังคนอื่นๆ ไป แต่ก็ไม่รู้จะดังยังไง
สุดท้ายก็ถูกดันเป็น human zoo ใช้ข้ออ้างว่า “จะพาน้องมันดังในทางนี้ แล้วก็ให้ตังค์มัน ไม่ได้มางานฟรี”
ส่วนคอนเทนต์ระยะหลัง จะเป็นกินแอลกอฮอล์เพียวๆ เยอะๆ ติดกันทุกวัน ไปเอนเตอร์เทนงานคนมีตังค์ เรียกง่ายๆ ว่าไปเมาโชว์
จนวันสุดท้าย ร่างกาย “แบงค์ เลสเตอร์” น่าจะขับแอลกอฮอล์ไม่ไหว เพราะใช้งานหนักมาต่อเนื่อง ก็น็อค แล้วก็เสียชีวิต ในจุดนี้ตำรวจคงสอบสวนกันต่อว่ามีการจ้างในงานจริงไหม
เพจ “ปลั๊กไทย by มหาชะนี” ได้ทิ้งท้ายว่า อย่าให้มีอีกเลยนะ ของเล่นพวกอินฟลูแบบนี้
ขณะที่ “จ่าพิชิต” จากเพจ “ดราม่าแอดดิก” ได้แชร์ข้อความของเทรนเนอร์ดัง ที่ได้โพสต์ว่า หยุดทำคอนเทนต์ขยะที่เสี่ยงต่อชีวิตคน!
ในยุคที่การไลก์และยอดวิวกลายเป็นเป้าหมายหลัก หลายคนเลือกทำคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น
-การบังคับให้คนดื่มหรือกินของที่เป็นอันตราย
-การแกล้งคนจนเกินขอบเขต
-การท้าทายด้วยกิจกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิต
ผลกระทบที่ตามมา คนที่ถูกแกล้งหรือถูกกดดันอาจต้องสูญเสียสุขภาพหรือชีวิต ผู้ชมอาจเลียนแบบพฤติกรรมที่ผิดๆ และนำไปสู่การสูญเสียได้
ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ชม อย่าสนับสนุนคอนเทนต์ที่ไม่สร้างสรรค์
หรือหากคุณเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ โปรดคำนึงถึงความปลอดภัยและจริยธรรมในทุกการนำเสนอ รวมทั้งขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ชีวิตของเรามีค่ามากกว่าจะเสี่ยงเพื่อความบันเทิงเพียงชั่วคราว
ส่วนการดำเนินคดี ทาง พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยกรณี “แบงค์ เลสเตอร์” อินฟลูเอนเซอร์สู้ชีวิต ที่เสียชีวิตกะทันหัน จากการดื่มเหล้าเพียว 1 แบนรวดเดียว จนร่างกายช็อกและเสียชีวิต
โดยขณะนี้ ต้องรอการพิสูจน์จากแพทย์นิติเวชอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพฤติกรรมบางคน อาจจะเคยดื่มสุราเป็นประจำ หรือบางคนไม่เคยดื่มก็อาจจะมีผลต่อร่างกาย โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยดื่ม ถ้าดื่มในปริมาณมาก จะรู้สึกไม่ดี และดื่มอย่างไม่มีความสุข จึงต้องรอผลทางการแพทย์อย่างเดียว
รอง ผบ.ตร.ชี้พฤติการณ์คล้ายคดี “ลัลลาเบล”
ขณะที่ พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ฝ่ายกฎหมาย) กล่าวถึงคดีการเสียชีวิตของ “แบงค์ เลสเตอร์” ที่มีกระแสว่า ยอมดื่มสุราหมดแบน เพื่อแลกกับเงิน 3 หมื่นบาท จนร่างกายช็อกและเสียชีวิต เรื่องนี้สามารถเอาผิดกับผู้จ้างดื่มได้หรือไม่
รอง ผบ.ตร. ระบุว่า คดีดังกล่าวจะต้องเริ่มจากการทำสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายอาญาก่อน เพื่อให้ทราบสาเหตุแห่งการตาย ว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติหรือตามธรรมชาติ ซึ่งจะต้องรอผลจากแพทย์นิติเวช
หากแพทย์นิติเวชสรุปผลว่า เป็นการตายผิดธรรมชาติ มีผู้ทำให้ถึงแก่ความตาย ก็ถือว่าความผิดทางอาญาเกิดขึ้น จึงต้องทำสำนวนขึ้นมาอีกสำนวน โดยเอาสำนวนชันสูตรศพมาประกอบคดีอาญา เพื่อสืบสวนสอบสวนว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการตายและใครกระทำความผิด
ขณะนี้เชื่อว่า ในทางสืบสวนตำรวจพื้นที่ ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการตายเกิดจากสาเหตุใด
ส่วนการจะชี้ว่า ใครกระทำผิดหรือไม่ ต้องมีหลักฐานหลายอย่าง ยังไม่สามารถฟันธงได้ในเวลานี้ เนื่องจากมีรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งคดีนี้อาจจะเทียบเคียงคดีในอดีต เช่น คดีพริตตี้ “ลัลลาเบล” ที่อาจจะมีพฤติการณ์ใกล้เคียงกัน คือมีการชักชวนให้ดื่มสุราในงานปาร์ตี้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงต้องดูพฤติการณ์ในการสืบสวนสอบสวน ว่ามีบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง โดยย้ำว่า ต้องทราบสาเหตุการเสียชีวิตก่อน อย่าเพิ่งกล่าวหาบุคคลใด เพราะเป็นการชี้นำสังคม ถึงแม้สังคมจะเชื่อแล้วก็ตามว่ามีการว่าจ้าง แล้วชี้ว่าบุคคลนั้นต้องผิดหรือต้องถูก
ขณะเดียวกัน หากพิสูจน์ได้ว่า มีการเจตนาจ้างวานให้ผู้ตายดื่มเหล้าเพื่อถ่ายคอนเทนต์ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวบรวมพยานหลักฐาน จนพิสูจน์ได้ ก็อาจมีการดำเนินคดี ในแนวทางเดียวกับคดีดังในอดีต คือ คดีลัลลาเบล นั่นเอง
……………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม