วันศุกร์, มกราคม 10, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEย้อนคดีดัง...เมื่อไทย!เป็นเป้าดินแดน "ลอบสังหาร"
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ย้อนคดีดัง…เมื่อไทย!เป็นเป้าดินแดน “ลอบสังหาร”

ยังเป็นปริศนาที่น่าติดตาม กับคดีลอบสังหาร นายลิม คิมยา อดีตนักการเมืองฝ่ายค้าน ชาวกัมพูชา สัญชาติฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นในย่านบางลำภู เมื่อวันที่ 7 มกราคม ว่าเกิดจากสาเหตุใด มีการเกี่ยวข้องกับการเมือง ความขัดแย้งในประเทศมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

สำหรับการลอบสังหาร มักมีจุดประสงค์หลักในไม่กี่เรื่อง คือ

  1. ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ของกลุ่มองค์กร
  2. ความขัดแย้งทางการเมือง

ในประเทศไทย เคยเกิดเหตุการณ์ ที่ชาวต่างชาติ ใช้ไทยเป็นดินแดนในการลอบสังหารคู่ขัดแย้งในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม

ย้อนไปปี 2565 เกิดเหตุฆาตกรรมชาวอินเดียที่วิลล่าหรูในจังหวัดภูเก็ต และต่อมาพบว่ามือสังหาร 2 คน เป็นอดีตทหารรับจ้าง สังกัดแก๊งอาชญากรรมใหญ่ระดับโลก ในแคนาดา คือ แก๊งเรดสกอร์เปี้ยน เข้ามาก่อเหตุฆ่าล้างแค้นในประเทศไทย หลังก่อเหตุได้หลบหนีออกนอกประเทศ

ต่อมา สามารถจับตัวคนร้าย คือนายแมทธิว ดูปรี อายุ 38 ปี อดีตทหารรับจ้างได้ที่แคนาดา ส่วนผู้ต้องหาอีกราย ที่ร่วมก่อเหตุ ประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตไปในปีเดียวกัน

จากนั้น มีการประสานงานระหว่างประเทศ โดยตำรวจและสำนักงานอัยการสูงสุด สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในไทย โดยใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเดินทางไปรับจากแคนาดา

ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ตำรวจไทยแกะรอย ประสานงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด จับมือสังหารแก๊งอาชญากรรมระดับโลกมาได้

ส่วนคดีการลอบสังหารที่เกี่ยวข้องมุ่งหวังผลทางการเมือง ก็เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน แต่คดีนี้ต้องย้อนไปช่วงต้นปี 2555 เมื่อมีกลุ่มชาวอิหร่าน 3 คน มาเช่าบ้านในซอยปรีดีพนมยงค์

จากนั้นได้ประกอบระเบิด เพื่อเตรียมใช้ล้างแค้นประเทศคู่แค้นกันมานาน โดยอาศัยประเทศไทยเป็นที่ลงมือ แต่ปรากฎว่าแผนผิดพลาด เมื่อระเบิดแสวงเครื่อง ที่ใช้ระเบิดซีโฟร์ติดแม่เหล็กแรงสูง 5 ลูก กลับระเบิดขึ้นมา จนบ้านเรือนในแถบนั้นพังพินาศเป็นแถบๆ

ส่วนคนร้ายที่พยายามหลบหนี ด้วยการขว้างระเบิดแสวงเครื่องใส่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะเกิดระเบิดใส่ขาตัวเอง ไม่มีโอกาสไปล้างแค้นใครบนแผ่นดินไทย

สุดท้ายตำรวจจับกุมตัวผู้ต้องหา ชาวอิหร่านได้ 2 ราย คือ นายซาอิด โมราดิ ที่บาดเจ็บขาซ้ายขาดและตาขวาบอด ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนนายโมฮัมหมัด คาซาเอ ผู้ร่วมก่อเหตุ จำคุก 15 ปี อีกราย คือนายเซดากัต ซาเดห์ เดินทางหลบหนีไปมาเลเซีย แล้วถูกจับส่งตัวมาดำเนินคดีในไทย

คดีนี้ยังมีปริศนา เมื่อสุดท้ายแล้ว มีการส่งตัวผู้ต้องหากลับไปรับโทษที่ประเทศอิหร่านในปี 2563 ในขณะที่สื่ออิหร่าน รายงานการปล่อยตัวไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการชาวออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ จนถูกนำไปโยงว่ามีการแลกเปลี่ยนกันเกิดขึ้นหรือไม่

แต่กรมราชทัณฑ์ชี้ว่า ไทยมีสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษเด็ดขาดระหว่างประเทศ รวมทั้งหมด 38 ประเทศ ซึ่งรวมถึงอิหร่านด้วย เป็นสิทธิ์ผู้ต้องหา ที่สามารถขอกลับไปรับโทษที่ประเทศตัวเองได้

สำหรับคดีสังหารอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านชาวกัมพูชา สัญชาติฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นย่านบางลำภูเมื่อวานนี้ ยังสรุปไม่ได้ว่า แรงจูงใจเกิดจากอะไร หรือมีความขัดแย้งใดเกิดขึ้น จนกว่าจะสามารถจับตัวมือปืนที่ก่อเหตุมาสอบสวนได้และล่าสุดทางตำรวจสามารถจับกุมมือนายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือเอ็ม อดีตทหารเรือ ขณะหลบหนีอยู่ที่ จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา หลังจากก่อเหตุ

แต่เรื่องที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหลังจากนี้ คงต้องหามาตรการป้องกันอย่างรัดกุม ทั้งการคัดกรองกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ต่างชาติ จะใช้ประเทศไทยในการก่อเหตุร้าย เหตุรุนแรงใดๆ ขึ้นมาอีกต่อไป

…………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img